จาก Starbucks ถึง Shake Shack

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
Shake Shack

บางปรากฏการณ์ในสังคมไทย สะท้อนอิทธิพลอเมริกัน คงมีอยู่ไม่น้อย

จับตาจาก “ชิ้นส่วน” เล็กๆ อาจปรากฏภาพใหญ่ที่เป็นไป ทั้งนี้ ดูเหมือนภาพที่ว่านั้นมีการขยับปรับเปลี่ยนไปบ้าง

อันเนื่องมาจาก Shake Shack เครือข่ายฟาสต์ฟู้ดอเมริกันรายล่าสุด เพิ่งมาเปิดสาขาแรก ณ ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นไปอย่างที่เคย ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าคนไทย

Shake Shack แห่งแรก เกิดขึ้นในสวนธารณะแห่งหนึ่งในแมนแฮตตัน นิวยอร์ก เมื่อปี 2547 ได้กลายเป็นจุดแวะเวียนของผู้คนเมือง รวมทั้งนักท่องเที่ยว Shake Shack จึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขยายสาขาในหลายๆ รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา ราวทศวรรษเดียวจากนั้น (2558) ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE : SHAK)

ตามข้อมูลนำเสนออย่างล่าสุด (ในงาน ICR Conference 2023-January 10, 2023) ระบุว่า สิ้นปี 2565 Shake Shack มีรายได้ราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท) ในนั้นเป็นรายได้จากระบบแฟรนไชส์ 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,000 ล้านบาท)

อันที่จริง Shake Shack คือเครือข่ายฟาสต์ฟู้ดหน้าใหม่ ปัจจุบันมีสาขาแค่กว่า 400 แห่ง ในหลายรูปแบบ รวมทั้งสาขาปกติ แบบไดรฟ์-ทรู จนถึงบริการแบบออนไลน์ซึ่งกำลังเติบโตได้ดี

ส่วนสาขาในต่างประเทศ เพิ่งเดินแผนการขยายไปไม่นานมานี้ ที่น่าสังเกตให้ความสำคัญกับระบบแฟรน์ไชส์และสู่ภูมิภาคเอเชียเป็นพิเศษ

จากข้อมูลอ้างข้างต้น (ICR Conference 2023) สิ้นปี 2565 สาขาในต่างประเทศภายใต้ระบบแฟรนไชส์มี 182 แห่งใน 16 ประเทศ โดยคาดว่าในปีนี้ (2566) จะเพิ่มอีก 25-30 สาขา

ที่น่าสนใจ สิ้นปี 2565 สาขาในจีนแผ่นดินใหญ่ (รวมทั้งฮ่องกง และมาเก๊า) มีแล้ว 32 แห่ง รวมทั้งจะเปิดสาขาใหม่ที่อู่ฮั่น (Wuhan) ในปีนี้ด้วย

 

การเปิดสาขาในไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการข้างต้น และเป็นแผนการที่แตกต่างจากอดีต ไม่ว่าการมาของฟาสต์ฟู้ดอเมริกันเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว ที่เจาะจงเข้าสู่ตลาดไทย ร่วมมือหุ้นส่วนคนไทยเป็นรายๆ ไป จนมาถึงบางกรณีขยับปรับแผนไปสู่การเข้ามาโดยตรง

Shake Shack เข้ามาเมืองไทย เป็นชิ้นส่วนของแผนการธุรกิจระดับภูมิภาค ว่าไปแล้ว เชื่อมโยงกับกรณีก่อนหน้าเมื่อไม่นานมานี้

เกี่ยวข้องกับ Starbucks ในตำนานมหัศจรรย์แห่งยุคสมัยของสังคมอเมริกัน มีขึ้นราวทศวรรษเดียว ก่อน Google (ก่อตั้ง 2541) Facebook (2547) และ iPhone (2550) จากนั้น Starbucks ขยายเครือข่ายทั่วโลก และก็มาถึงเมืองไทยด้วย (2541)

ราว 2 ทศวรรษจากนั้น Starbucks ในประเทศไทย ได้ปรับแผนครั้งใหญ่ จากโมเดลการเข้ามาโดยตรง สู่แบบแผนทางธุรกิจใหม่

ขอทบทวนเรื่องราวช่วงนั้นอีกครั้ง อ้างอิงถ้อยแถลง Starbucks Coffee Company บริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐ (NASDAQ : SBUX) เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว (SEATTLE 23 พฤกษาคม 2562) โดยสาระสำคัญมีว่า เครือข่าย Starbucks ในเมืองไทย ได้เปลี่ยนมือไปยัง Coffee Concepts Thailand ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Maxim’s Caterers Limited แห่งฮ่องกง กับหุ้นส่วนไทย – F&N Retail Connection Co., Ltd.

ใช้คำว่า fully license โดยเน้นว่า กิจการใหม่มีสิทธิในการดำเนินการและพัฒนาเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucks ให้เติบโตในตลาดไทย

กรณีความร่วมมือระหว่างเครือข่ายธุรกิจในแบบแผนคล้ายๆ กันนั้น เคยเทียบเคียงกับอีกกรณีไว้ด้วย ไทยเบฟฯ กับ KFC (2560)

โดยตั้งข้อสังเกตกรณีดังกล่าวไว้ว่า ไม่เพียงเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากเดิม สู่ระบบแฟรนไชส์ หากมีการขายทรัพย์สิน (เครือข่ายสาขาที่มีอยู่เดิม) ด้วย

นับเป็นแผนการอับแยบผล ทั้งอาศัยพลังพันธมิตรอิทธิพลท้องถิ่น ผลักดัน ทำลายข้อจำกัด ขณะที่ภาวะตลาดอิ่มตัวมากขึ้น

ขณะเดียวกันได้ขายทรัพย์สินซึ่งประเมินใหม่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นแผนการปรับโครงสร้างรายได้ในทันท่วงทีอีกด้วย

ว่าเฉพาะกิจการใหม่บริหารเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucks ในประเทศไทย มีโครงสร้างผู้ถือหุ้น สะท้อนความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ระหว่างธุรกิจใหญ่ไทยและฮ่องกง ระหว่างกลุ่มไทยเบฟฯ ประเทศไทย กับ Maxim’s Group แห่งฮ่องกง

“โครงสร้างผู้ถือหุ้น ผู้มีอำนาจในการบริหาร Starbucks ในประเทศไทย ระหว่างฝ่ายไทยกับฮ่องกงมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน หากพิจารณาทางคณิตศาสตร์อย่างเจาะจงมากขึ้น จะพบว่า ฝ่ายฮ่องกงมีสัดส่วนมากกว่า”

ผมเคยสรุปไว้อย่างคร่าวๆ

Starbucks สาขา The Scene Town in Town //Starbucks Thailand

ทั้งนี้ ถ้อยแถลง Starbucks ครั้งนั้น ให้ความสำคัญกล่าวอย่างเจาะจง ถึง Maxim’s เป็นพิเศษ “ในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์มาอย่างยาวนาน และเป็นผู้ดำเนินงานและพัฒนาเครือข่ายกาแฟ Starbucks ฐานะบริษัทได้รับสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า Starbucks มาตั้งแต่ปี 2543 โดยในปัจจุบัน Maxim’s บริหารเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucks ในฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา มีมากกว่า 400 สาขา และพนักงานมากกว่า 6,000 คน”

แม้ความสัมพันธ์ระหว่าง Starbucks กับ Maxim’s จะมาทีหลัง การเปิดกิจการ Starbucks โดยตรงในไทย แต่ดูเหมือนว่าเป็นโมเดลความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ว่านั้น จะมีความสำคัญกว่า

Maxim’s Group แห่งฮ่องกง ก่อตั้งเมื่อปี 2499 ผู้นำเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มอย่างหลากหลาย ทั้งเครือข่ายภัตตาคารอาหารจีน เอเชียน ยุโรป ต่อมาภายหลังเข้าไปสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งฮ่องกง ซึ่งมีตำนานย้อนไปไกลมาก

นั่นคือ Jardine Matheson Group อยู่มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ราว 2 ศตวรรษที่แล้ว เริ่มต้นตั้งแต่การสิ้นสุดยุคผูกขาดการค้ากับจีน พร้อมๆ กับการก่อร่างสร้างตัว สร้างอาณาจักรธุรกิจครั้งใหญ่ของชาวยุโรป ในแผ่นดินจีน และเกาะฮ่องกง ท่ามกลางโอกาสที่พลิกผันกับสถานการณ์ผันแปรอย่างมากมาย ด้วยแผนการปรับตัวอย่างยืดหยุ่น

กลายเป็นตำนานนักธุรกิจที่เรียกกันว่า Tai-Pan เชื่อมโยงกับนวนิยายยอดนิยมแห่งยุค Tai-Pan โดย James Clavell (2509)

 

หากย้อนไปมองกรณี Starbucks กับ Maxim’s Group อีกครั้ง จะพบว่า แผนการปรับโมเดลธุรกิจในเมือไทยเมื่อ 3 ปีก่อน สัมพันธ์กับแผนการขยายเครือข่าย Starbucks โดย Maxim’s Group ในระบบแฟรนไชส์ ในฐานะที่เรียกว่า master franchisor เป็นไปทั้งภูมิภาค เปิดฉากขึ้นด้วย การเปิดสาขาแห่งแรกในเวียดนาม (2556) และกัมพูชา (2559)

จากนั้นมีการปรับแผนธุรกิจ เครือข่าย Starbucks ที่มีอยู่เดิมในสิงคโปร์มาเป็นระบบแฟรนไชส์ (2560) ว่าไปแล้วเป็นโมเดลเดียวกับไทย (2562) ก็ว่าได้ แต่ก็มีส่วนแตกต่าง กรณีไทย Maxim’s Group ได้ร่วมทุนกับกลุ่มเบียร์ช้าง จากนั้นไปต่ออีก ได้เปิดสาขาแรกในลาว (2563)

เป็นไปได้ว่าโมเดลความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่าง Starbucks กับ Maxim’s Group ข้างต้น เป็นสิ่งอิงสำคัญมาถึงกรณีกับ Shake Shack

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาไทม์ไลน์พบว่า ในช่วงคาบเกี่ยวกันนั้น Maxim’s Group บรรลุข้อตกลงในระบบแฟรนไชส์นำ Shake Shack เปิดสาขาในประเทศจีน ทั้งฮ่องกง มาเก๊า และภูมิภาคตะวันออกของจีนแผ่นดินใหญ่ (2560)

จากนั้นไม่นาน (2563) มีข้อตกลงเพิ่มเติม เปิดสาขาในจีนแผ่นดินใหญ่ตอนใต้ด้วย สอดคล้องกับข้อมูลกว้างๆ ที่กล่าวไว้ใตอนต้นๆ

หากให้เจาะจงในจีนแผ่นดินใหญ่ มีสาขาแล้วในเมืองใหญ่ ทั้ง Nanjing Guangzhou Chengdu และ Suzhou

ส่วนแผนการเปิดสาขาแรกในไทย เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุด ทั้ง Maxim Group และ Shake Shack ตั้งใจรายงานไว้เช่นกัน •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com