อีกยุคธนาคารกรุงเทพ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ธนาคารคงบุคลิกแตกต่างจากธนาคารอื่นๆ สืบทอด ผสมผสาน และสร้างความต่อเนื่อง จากรุ่นสู่รุ่นอย่างเหนียวแน่น กำลังเดินหน้าสู่จุดเปลี่ยน

เรื่องราวธนาคารใหญ่ไทยเคยครองอันดับหนึ่งมายาวนาน ได้นำเสนอตำนานในช่วงนั้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง จากนี้จึงขอตัดตอนสู่ฉากยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ชาติศิริ โสภณพนิช เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ (2537-ปัจจุบัน)

ช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อมองผ่านโครงสร้างกรรมการและบุคคลสำคัญๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่มิขาด ทว่า ความคงเส้นคงวาของแบบแผนสายสัมพันธ์บางอย่างคงยึดมั่นเสมอมา ที่สำคัญสะท้อนร่องรอยธนาคารครอบครัวอย่างเด่นชัด โดยมีผู้นำมาจากตระกูลเดียวอย่างยาวนานถึง 3 รุ่นเป็นระยะเวลาราว 70 ปี

จนมาถึงช่วงนี้ “ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ขอแจ้งให้ทราบว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีมติแต่งตั้ง นายพรเทพ พรประภา ให้ดํารงตําแหน่งเป็นประธานกรรมการธนาคาร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป” (หนังสือลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการธนาคาร รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

ข้อความสั้นๆ กะทัดรัดข้างต้น เชื่อว่าสะท้อนการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างไปจากเดิมบ้างไม่มากก็น้อย

 

พรเทพ พรประภา (2491) ถือเป็นประธานกรรมการคนใหม่ที่แตกต่างจากอดีต มาจากภาคธุรกิจ ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับธุรกิจญี่ปุ่นอย่างยาวนาน เข้ามาเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพในยุคอิทธิพล ชาตรี โสภณพนิช เมื่อราว 15 ปีที่แล้ว ว่าด้วยวัยและประสบการณ์ คงสามารถประสานรอยต่อระหว่างรุ่นได้

ว่าไปแล้ว การเปลี่ยนตัวประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพครั้งนี้ มีร่องรอยต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการธนาคารครั้งใหญ่ หลังยุคชาตรี โสภณพนิช (ถึงแก่กรรม 2561) และ ปิติ สิทธิอำนวย (ถึงแก่กรรม 2565) โดยการเข้ามาเป็นขบวนของคนรุ่นเดียวกับชาติศิริ โสภณพนิช พลิกโฉมหน้าคณะกรรมการไปจากเดิมพอสมควร

อาจนับมาตั้งแต่ปี 2560 เริ่มต้นด้วย จรัมพร โชติกเสถียร (ปีเกิด 2500) ปี 2563 ศิริ จิระพงษ์พันธ์ (2497) กับ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ (2498) ปี 2564-ชัชวิน เจริญรัชต์ภาคย์ (2503) บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ (2508) และ พรรณสิรี อมาตยกุล (2512) 2566 – ปรีดี ดาวฉาย (2501)

ทั้งนี้ ยังไม่รวมสัดส่วนอีกจำนวนหนึ่งมาจากทีมบริหารชุดปัจจุบันของธนาคารกรุงเทพ (โดยเฉพาะ Mr. Chong Toh และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล เพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการปี 2565) ภายใต้การนำของชาติศิริ โสภณพนิช

มีบางคนตั้งข้อสังเกต หลายๆ คนในนั้นเป็น MIT Connection (จบการศึกษาจาก Massachusetts Institute of Technology สถาบันเดียวกันกับชาติศิริ โสภณพนิช)

ชาติศิริ โสภณพนิช (ปีเกิด 2502) บุตรชายคนโตของชาตรี มีเส้นทางที่แตกต่างออกไปจากบิดามากทีเดียว

เขาได้ชื่อว่า ถูกบ่มเพาะตระเตรียมตัวมาอย่างดี เมื่อมองผ่านกระบวนการการศึกษาเล่าเรียน เปรียบเทียบกับบิดาในยุคเข้าทำงานธนาคารครั้งแรกด้วย ขณะเดียวกันเขาก็มีเส้นทางที่สั้นมากเมื่อเปรียบเทียบกัน ในการก้าวขึ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยใช้เวลาเพียงประมาณ 8 ปีเท่านั้น (2529-2537) ขณะที่บิดาของเขาใช้เวลายาวนานถึง 20 ปี

ช่วงแรกๆ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ปลายยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู สู่ฟุบลง เป็นวิกฤตการณ์ปรากฏการณ์ท้าทายระบบธนาคารไทยอย่างมาก แบบแผนการบริหารตามแบบฉบับยุคชาตรี โสภณพนิช จึงน่าสนใจ ด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารผ่านคณะกรรมการธนาคาร เป็นไปอย่างซับซ้อนมากกว่าธนาคารอื่นใด มีทั้งประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการ

ชาตรี โสภณพนิช (2477-2561) ก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารในช่วงเปลี่ยนผ่าน (2535-2542) จากนั้นก็ขึ้นเป็นประธานกรรมการ อยู่ยาวนานตลอด 2 ทศวรรษ (2542-2561)

ขณะเดียวกันขยับปรับตำแหน่งบุคคลสำคัญรุ่นเดียวกับชาตรี โสภณพนิช ผู้ทำงานธนาคารมานาน มีบารมี อาทิ มีประสบการณ์ในการบริหารกิจการหลักๆ สำคัญ คือ ปิติ สิทธิอำนวย (2477-2565) และ เดชา ตุลานันท์ (2478) ถูกยกขึ้นเป็นรองประธานกรรมการบริหาร

พร้อมกับการมาของคนนอกอีกรุ่น อาจถือเป็นเชื่อมต่อระหว่างรุ่นบิดา-บุตร ซึ่งห่างกันราว 25 ปี พวกเขามีประสบกาณ์เชี่ยวกรำแตกต่างกัน

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ (2486-2559) ด้วยประสบการณ์วางแผนเศรษฐกิจภาครัฐมาประมาณ 30 ปี เป็นคนที่ได้รับการยอมรับทั้งในแวดวงวิชาการ และเทคโนแครต เข้ามาเป็นประธานกรรมการ (ตั้งแต่ปี 2542)

กับ สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ (2486) ผู้มีประสบการณ์ในแวดวงเศรษฐกิจการเงินการคลัง และธนาคารอย่างกว้างขวาง จากกระทรวงการคลัง สู่เอสซีจี ตลาดหลักทรัพย์ฯ และธนาคารกรุงไทย เข้ามาประกบอีกตำแหน่งหนึ่ง-กรรมการผู้อำนวยการ (2549-2553)

ชาติศิริ โสภณพนิช กับประสบการณ์ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพมาครึ่งทาง (ของปัจจุบัน) หรือราว 15 ปี ท่ามกลางโครงสร้างกรรมการใต้เงาบิดา ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่ออีกช่วงหนึ่ง ธนาคารอันดับหนึ่งของไทยถูกท้าทาย ขณะอีกด้านความสนใจโฟกัสในแผนการสร้างเครือข่ายภูมิภาคอย่างจริงจัง

เวลานั้น (ปี 2552) บรรดาคณะกรรมการจำนวน 18 คน บุคคลผู้มีอายุมากว่า 70 ปี (ชาตรีมีอายุถึง 76 ปี) มากถึง 11 คน ที่เหลือล้วนมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จำนวนนั้นอยู่ในคณะกรรมการบริหาร 9 คน โดยมีอายุมากกว่า 65 ปีถึง 6 คน ขณะที่ชาติศิริ โสภณพนิช เป็นเพียงคนเดียวเพิ่งอายุ 50 ปี

 

ภายใต้โครงสร้างนั้น ธนาคารกรุงเทพได้ก้าวเป็นผู้นำในแผนการสร้างเครือข่ายใหม่ในระดับภูมิภาค

“Bangkok Bank Berhad ธนาคารท้องถิ่นในมาเลเซียที่ธนาคารกรุงเทพ ถือหุ้นเต็มจำนวน 100% ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) ให้เปิดสาขาใหม่ 4 สาขา ในรัฐยะโฮร์ (Johor) 2 สาขา รัฐปีนัง (Penang) 1 สาขา และรัฐสลังงอร์ (Selangor) 1 สาขา โดยขณะนี้ได้เปิดดำเนินการไปแล้ว 1 สาขา คือ สาขา Jalan Bakri เมือง Muar และในวันที่ 22 เมษายน 2553 มีพิธีเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการสำหรับสาขา Taman Molek เมือง Johor Bahru โดยทั้ง 2 แห่งเป็นสาขาที่ตั้งอยู่ในรัฐยะโฮร์”

ความเคลื่อนไหวสำคัญข้างต้นในช่วงนั้น เป็นอีกขั้นพัฒนาการธนาคารกรุงเทพ สาขากัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเปิดครั้งแรกเมื่อปี 2502 ได้เปลี่ยนสถานะจากสาขาเป็นธนาคารท้องถิ่น จดทะเบียนในนาม Bangkok Bank Berhad ตั้งแต่ปี 2537

ขณะอีกก้าวหนึ่ง ดำเนินการเชิงรุกในเวลาใกล้เคียงกันเกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ “การจัดตั้งธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) สำเร็จลงและดำเนินการในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภูมิภาค หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ทศวรรษแห่งเอเชีย’ เมื่อข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และข้อตกลงเขตเสรีการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน และอีกหลายประเทศเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการ…” ถ้อยแถลงของธนาคารกรุงเทพในช่วงเวลานั้น

อีกทศวรรษต่อมา จะว่าเป็นช่วงปลายโครงสร้างอย่างที่ว่ามาคงได้ มีอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญดูตื่นเต้นไม่น้อย “Bank Permata เข้ามาอยู่ในเงื้อมมือธนาคารกรุงเทพ มีขั้นตอนค่อนข้างกระชั้น แทบจะทันทีเมื่อลงนามซื้อกิจการ ชาติศิริ โสภณพนิช ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพได้เข้ามามีบทบาทในฐานะประธานกรรมการ (ที่นั่นเรียก President Commissioner) Bank Permata (20 พฤษภาคม 2563) ตามมาด้วยการแต่งตั้งผู้จัดการใหญ่ (President Director) เป็นคนของธนาคารกรุงเทพ (9 มิถุนายน 2564)…” อย่างที่ผมเคยเสนอไว้ในช่วงนี้

จะว่าเป็นจังหวะจุดเปลี่ยนสำคัญธนาคารกรุงเทพ ก็คงได้ •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com