กนง. ขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุด แบงก์รัฐ-แบงก์เอกชนขยับตาม คาดปรับทั้งดอกเงินฝาก-เงินกู้

ในที่สุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% นับเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน ขึ้นมาอยู่ที่ 1.75% อันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งแรง จนกระทบค่าครองชีพของประชาชนอย่างมาก ทำให้ ธปท.ต้องยุติการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ ที่ดำเนินมาหลายปีก่อนหน้านี้

ซึ่งจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้ นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า น่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์ขยับขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิง ทั้งกระดาน ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ หลังจากเพิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ไป 0.40% ต่อปี ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องกลับมาจ่ายเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตราปกติที่ 0.46%

“Scale ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ น่าจะคล้ายปลายปี 2565 ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝาก จะขึ้นกับประเภท และโครงสร้างเงินฝากของแต่ละธนาคาร โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังประชุม กนง.ประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งในช่วงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น กลุ่มเปราะบาง ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี ยังคงเป็นกลุ่มที่แบงก์ให้ความสำคัญในการดูแล เพราะเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวกับความผันผวนของเศรษฐกิจและดอกเบี้ย” นางสาวกาญจนากล่าว

 

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารคงต้องขอรอดูทิศทางการปรับดอกเบี้ยของ กนง.และตลาดก่อน อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ยต้องอยู่บนหลักการความระมัดระวังและเหมาะสม โดย ธปท.และกระทรวงการคลังจะพิจารณาการปรับดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง และไม่ควรเป็นภาระของลูกค้าและธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจและเศรษฐกิจ

“แบงก์กรุงเทพพยายามดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางและธุรกิจ ซึ่งในช่วงโควิด-19 ธนาคารสนับสนุนสภาพคล่องให้ลูกค้า และธุรกิจประคองตัวอยู่ได้ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นก็สนับสนุนสินเชื่อหมุนเวียน และสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ในการปรับโมเดลธุรกิจรองรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนลูกค้าและธุรกิจให้มีการเติบโต” นายชาติศิริกล่าว

นายชาติศิริกล่าวว่า ลูกค้าที่ยังมีความเปราะบาง ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าที่ส่งสัญญาณที่ดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีบางรายที่ยังต้องประคองอยู่ แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจ คุณภาพสินเชื่อ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับตัวดีขึ้น

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า กนง.น่าจะปรับดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี ซึ่งไทยพาณิชย์จะพิจารณาการส่งผ่านนโยบายอย่างระมัดระวัง โดยพิจารณากลุ่มเปราะบางเป็นสำคัญ เพื่อให้เศรษฐกิจและธุรกิจไปต่อได้

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานกลุ่มธุรกิจรายย่อยและลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารต้องประชุมภายในอีกครั้ง เพื่อพิจารณากำหนดทิศทางดอกเบี้ยของธนาคาร โดยจะพิจารณาดอกเบี้ยในอัตราที่ลูกค้ายังสามารถรับไหว

ด้านนายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า หลัง กนง.มีมติ ธนาคารจะประชุมคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (ALCO) เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

“ปกติการปรับ จะปรับขึ้นทั้ง 2 ขา ทั้งเงินฝากและเงินกู้ แต่ก็ต้องดูโครงสร้างเงินฝากและสินเชื่ออีกที ซึ่งแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน โดยจากภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัว คนเริ่มมีกำลังชำระหนี้มากขึ้น แต่ธนาคารยังให้ความสำคัญดูแลกลุ่มเปราะบางและผู้ฝากเงิน” นายอนุวัติร์กล่าว

นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank กล่าวว่า ทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารนั้น นอกจากรอดูผล กนง.แล้ว ก็จะต้องรอดูการเคลื่อนไหวของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ด้วย ว่าจะตอบรับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งในส่วนของ LH Bank คงปรับตามความเหมาะสม

“ต้องรอดูว่า แบงก์ใหญ่ๆ ในระบบ ภาพรวมจะไปในทิศทางใด ซึ่งเราจะพิจารณาปรับตามความเหมาะสม แต่คิดว่าคงไม่รีบร้อน เพราะต้องดูแลลูกค้าด้วย หากรีบปรับเร็วลูกค้ากลุ่มเปราะบางอาจจะรับไม่ไหว” นางสาวชมภูนุชกล่าว

 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แบงก์รัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ที่ 0.125% ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างแบงก์รัฐที่เป็นสมาชิกสมาคม ส่วนดอกเบี้ยประเภทอื่นๆ ขึ้นกับแต่ละแบงก์จะพิจารณา

ทั้งนี้ สมาชิกสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประกอบด้วย ธอส. ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารกรุงไทย

ส่วนทางด้านธุรกิจเช่าซื้อนั้น นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ของ กนง.ในรอบนี้จะไม่มีผลให้ดอกเบี้ยเช่าซื้อขยับตามทันที เพราะช่วงต้นปีเช่าซื้อได้ขยับดอกเบี้ยกันขึ้นไปแล้ว จากต้นทุนที่เพิ่มตามดอกเบี้ยขาขึ้นเมื่อปีก่อนและการคุมเพดานดอกเบี้ยของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

“ผู้ประกอบการเช่าซื้อทยอยขึ้นไปก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และรายใหญ่เองก็คงไม่ได้ขยับอะไรเพิ่มเติม หลังประชุม กนง. ซึ่งเราคงต้องขอรอดูสถานการณ์อีกสักพัก เพราะตอนนี้เกณฑ์ดอกเบี้ยของ สคบ. รถใหม่และรถใช้แล้ว ยังพอไหวอยู่ แต่รถมอเตอร์ไซค์พอร์ตกระทบหนักจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” นายวิสิทธิ์กล่าว

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ประเมินว่า ทั้งปีนี้จะเห็น ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปอย่างน้อยอยู่ที่ 2% โดยคาดว่าจะปรับขึ้น 4 ครั้ง เนื่องจาก ธปท.ต้องการให้เงินเฟ้อลดลงมาที่ระดับ 2% จากปัจจุบันยังอยู่กว่า 5%

นั่นหมายความว่า ดอกเบี้ยขาขึ้นคงยังไม่จบง่ายๆ

และแบงก์ก็คงต้องขยับดอกเบี้ยตามไปเรื่อยๆ เพื่อส่งผ่านต้นทุนไปสู่ผู้บริโภค