จับทาง ESSO

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

กรณีบางจาก-เอสโซ่ มีอีกแง่มุมที่น่าสนใจ ว่าด้วยวิวัฒนาการ และการปรับตัวของธุรกิจระดับโลก

ในวันที่ดีลสำคัญเปิดเผย (12 มกราคม 2566) ฝ่ายเอสโซ่ (ESSO) ได้มีถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน (อ้างจาก https://www.esso.co.th/th-th) มาจากอีกซีกโลกหนึ่ง -สำนักงานใหญ่เอ็กซอนโมบิล (Exxon Mobil) ในสหรัฐอเมริกา (IRVING, Texas) ในหัวข้อ “เอ็กซอนโมบิลขายหุ้นเอสโซ่ ประเทศไทย” มีสาระที่ตั้งใจให้มีความชัดเจน

“การขายหุ้น ครอบคลุมถึงโรงกลั่นน้ำมันศรีราชาและเครือข่ายสถานีบริการตราเอสโซ่ในประเทศไทย เอ็กซอนโมบิลยังคงจัดหาผลิตภัณฑ์หล่อลื่นและผลิตภัณฑ์เคมีในประเทศไทยต่อไป และศูนย์ธุรกิจระดับโลกกรุงเทพ (Bangkok Global Business Center) กิจกรรมสํารวจ และผลิตปิโตรเลียม ไม่ได้รับผลกระทบจากการขายหุ้น”

ประเด็นสำคัญที่ควรสนใจเพิ่มขึ้นอยู่ในท่อนนี้ “เอ็กซอนโมบิลใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการลงทุนด้านการผลิตทั่วโลกเพื่อตอบสนองความต้องการของโลก ด้านเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซน้อยลงและผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ในขณะเดียวกันก็ขายสินทรัพย์ที่มีผู้อื่นเห็นศักยภาพในการสร้างมูลค่ามากขึ้น” ผู้บริหาร Exxon Mobil แถลงไว้อย่างจริงจัง

บทสรุปข้างต้นให้ภาพสะท้อนหนึ่ง เกี่ยวกับธุรกิจระดับโลกในประเทศไทย ซึ่ง “ผ่านร้อนผ่านหนาว” มานานกว่าศตวรรษ

 

ESSO เข้ามาเมืองไทยครั้งแรก ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 “พ.ศ.2437 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์ก เปิดสาขาในประเทศไทยที่ตรอกกัปตันบุช จำหน่ายน้ำมันก๊าดตราไก่และตรานกอินทรี” (อ้างข้อมูลประวัติ ESSO เอง โดยจะขออ้างอีกหลายตอน) มีความเชื่อมโยงกับตำนานตระกูลธุรกิจทรงอิทธิพลในสหรัฐอเมริกา

ตระกูล Rockefeller ผู้อพยพชาวเยอรมัน สู่ดินแดนใหม่เมื่อตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือราวๆ ยุคอาณาจักรล้านนา จากเจ้าของที่ดินและฟาร์มอันกว้างใหญ่ใน Philadelphia มาสู่เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ-New York กลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันแห่งอเมริกา เมื่อศตวรรษที่แล้ว (ก่อตั้ง Standard Oil) รวมทั้งมีกิจการธนาคารใหญ่ในมือด้วย เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมากล่าวขานกันว่าตระกูล Rockefeller เป็นตระกูลหนึ่งที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะบุคคลสำคัญในตำนาน John D. Rockefeller (2382-2480) ถือกันว่า เป็นผู้ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน

จากการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้อง กิจกรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทยยุคนั้นซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพิงโลกตะวันตก เป็นอยู่อย่างนั้นมานาน จนผ่านมาถึงยุคต้นสงครามเวียดนาม ความคึกคักใหม่จึงเกิดขึ้น พร้อมๆ กับขบวนธุรกิจอเมริกันพาเหรดเข้ามาเมืองไทย

“พ.ศ.2508 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด พ.ศ.2510 ซื้อโรงงานจากบริษัท ยางมะตอยไทย เพื่อจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ศรีราชา และ พ.ศ.2514 ขยายโรงกลั่นครั้งแรก เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 35,000 บาร์เรลต่อวัน…” (อ้างจากข้อมูลของ ESSO) ขณะ ESSO วางรากฐานอย่างจริงจังมีกิจการโรงกลั่นอย่างที่ว่านั้น ธุรกิจเครือข่ายตระกูล Rockefeller อย่างอื่น ได้เข้ามามีบทบาทในเมืองไทยด้วย ที่จะกล่าวถึงคือ ธนาคาร Chase Manhattan Bank (ปัจจุบันคือ JPMorgan Chase) เข้ามาในปี 2507 ตามแบบแผนใหม่ ร่วมทุนกับตระกูลธุรกิจไทย โดยเฉพาะการก่อตั้งกิจการเงินทุนหลักทรัพย์ (ปัจจุบันยังมี รวมทั้งมีบทบาทสำคัญหลายอย่าง เช่นกรณีหนึ่งซึ่งควรอ้างอิงไว้

“ผมเป็นลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารเชสแมนฮัตตัน (Chase Manhattan Bank) ของสหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันคือเจพีมอร์แกนเชส : J.P. Morgan Chase) ธนาคารแห่งนี้ เป็นผู้ดูแลงบบัญชีนำเข้าและส่งออกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนาคารเชสแมนฮัตตันแนะนำให้ผมรู้จักกับบริษัท อาร์เบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) ซึ่งเป็นบริษัทไก่พันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ อาร์เบอร์ เอเคอร์ส กับธนาคารเชสแมนฮัตตันมีความเกี่ยวข้องกัน…” ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของซีพีในประเทศไทย

แม้ว่าช่วงปลายและสงครามเวียดนาม ธุรกิจอเมริกันหลายรายมองโลกแง่ร้าย ถอนการลงทุนจากไทย แต่ ESSO ยังคงยืนหยัด ไม่เพียงเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเพื่อตอบสนองตลาดไทยที่เติบโตขึ้นหลายครั้ง ยังลงทุนสู่ต้นน้ำด้วย “พ.ศ.2522 จัดตั้งบริษัท เอสโซ่ เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ โดยได้รับสัมปทานการสำรวจและขุดเจาะหาพลังงานบนแหล่งที่ราบสูงโคราช และพบก๊าซธรรมชาติที่หลุมน้ำพอง จ.ขอนแก่น ภายหลังบริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์” (ประวัติ ESSO อีกตอนหนึ่ง)

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติในห่วงโซ่ต้นน้ำ ถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่ยังคงอยู่ในมือของ Exxon Mobile ในไทยต่อไป ว่ากันว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซน้อยกว่าน้ำมัน ขณะให้ผลตอบแทนดีกว่า ห่วงโซ่ช่วงโรงกลั่น-ค้าปลีก

 

ว่าไปแล้ว จากนั้น ESSO ดูเหมือนมีมุมมองทางธุรกิจในไทยแตกต่างออกไป ในช่วงเวลากิจการพลังงานแห่งชาติก่อตั้งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเต็มกำลัง และมีบทบาทนำอย่างชัดเจนมากขึ้น

แนวทางที่แตกต่างเกิดขึ้นอีกครั้ง ในช่วงธุรกิจพลังงานได้รับความสนใจ คาบเกี่ยวกับกรณี ปตท.เข้าตลาดหุ้นไทย เป็นฐานให้ ปตท.ก้าวกระโดดครั้งใหญ่

เชื่อมโยงกันโดยตรงกับกรณีหนึ่ง “พ.ศ.2544 ได้มาซึ่งกิจการของบริษัท โมบิลออยล์ ไทยแลนด์ จำกัด และดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)” มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจเก่าแก่เชื่อมโยงกับแบรนด์และคุณค่าเฉพาะของ Exxon Mobil เป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ESSO คงถือครองไว้ ไม่ได้เข้าไปรวมอยู่ในดีลของบางจาก มีเครือข่ายเฉพาะตัวอย่างสำคัญ “จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ภายใต้ชื่อการค้า โมบิล และสนับสนุนเครือข่ายศูนย์บริการรถยนต์โมบิลทั้ง 232 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยศูนย์โมบิล 1 เซ็นเตอร์ 190 แห่ง และโมบิลเอ็กซ์เพรส 42 แห่ง (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564)”

ทั้งนี้ เมื่อบางจากเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แล้ว ธุรกิจในส่วนนี้จะถูกแยกออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่

 

ยิ่งเมื่อทศวรรษที่แล้ว สำหรับ ESSO ธุรกิจข้างต้นถือเป็น “ชิ้นส่วนสำคัญใหม่” นำไปสู่แผนการใหม่ ในปี 2551 บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับเป็นหุ้นขนาดใหญ่ และสามารถระดมเงินมากกว่าถึงราว 34,000 ล้านบาท

ธุรกิจอีกอย่างหนึ่งเป็นไปตามแผนการปรับตัวธุรกิจใหญ่ระดับโลกเมื่อราว 2 ทศวรรษที่แล้ว สร้างบริการพื้นฐานร่วมกันสำหรับเครือข่ายทั่วโลก เป็นการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้เครือข่ายและสื่อสารยุคปัจจุบัน เชื่อมกันทั้งโลก รวมทั้งมีต้นทุนอย่างหมาะสม มักใช้ฐานในภูมิภาคตะวันออก โดยเฉพาะในอินเดีย และฟิลิปปินส์ “พ.ศ.2545 จัดตั้งบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด เพื่อให้บริการแก่บริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ” เรียกเป็นทางการว่า ศูนย์ธุรกิจระดับโลก กรุงเทพ (Bangkok Global Business Center หรือ Bangkok GBC) เป็นอีกธุรกิจในเครือ ExxonMobil ยังคงอยู่ต่อไป

โดยอรรถาธิบายไว้อย่างเห็นภาพ “เป็นศูนย์ธุรกิจระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในเครือข่ายศูนย์ธุรกิจระดับโลกของเอ็กซอนโมบิล ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 2,400 คน… ให้บริการแก่บริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิลและลูกค้าในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ-ใต้ บริการครอบคลุมงานด้านบัญชี ฝ่ายภาษี และเครดิตลูกค้า เทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายบริการลูกค้าด้านน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และเคมีภัณฑ์ การจัดซื้อและจ่ายเงิน ด้านทรัพยากรบุคคล และฝ่ายปฏิบัติการในธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น”

ไทยกับมุมมองเชิงภูมิศาสตร์ ของธุรกิจระดับโลก เปลี่ยนไปอยู่เสมอ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com