ซีพีเอฟ สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน สานต่อ Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก ปีที่ 2

ท่ามกลางความร่วมมือของนานาประเทศในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ClimateChange) โดยหนึ่งในสาเหตุหลักเกิดจาก “ขยะอาหาร” ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) ได้เคยศึกษาวิจัยผลกระทบพฤติกรรม เรื่อง วิกฤตขยะอาหาร พบว่าอาหารที่ผลิตมาเพื่อบริโภค กลายเป็นเศษอาหารเหลือทิ้ง 1 ใน 3 หรือประมาณ 1,300 ล้านตัน และขยะอาหารเหล่านี้ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ ร้อยละ 8ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาขยะอาหาร จึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว บรรจุไว้เป็นหนึ่งในเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainabilityin Action มุ่งมั่นลดขยะอาหาร ซึ่งหมายถึงการลดการสูญเสียทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจและทรัพยากร ร่วมขจัดความหิวโหย ตอกย้ำความมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโลกอย่างยั่งยืน

ภายใต้เป้าหมายของบริษัทฯ ในการมีส่วนร่วมลดขยะอาหาร ซีพีเอฟ ร่วมกับมูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และ บริษัท เก็บสะอาด จำกัด (GEPP) ดำเนินโครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เป็นปีที่ 2 เปลี่ยนอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) เป็นเมนูพร้อมรับประทาน อร่อย สะอาด ส่งมอบอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนและด้อยโอกาส ลดการสูญเสียอาหารและจัดการอาหารส่วนเกิน พร้อมสร้างสรรค์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และเก็บบรรจุภัณฑ์กลับ

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟและภาคีเครือข่ายองค์กรชั้นนำ ประสบความสำเร็จจากการดำเนินโครงการ Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก โดยในปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินโครงการฯ สามารถบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน ตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบจนถึงปลายทางผู้บริโภค ส่งเสริมให้ผู้ที่ได้รับมื้ออาหารและชุมชนได้มีส่วนร่วมในการเก็บบรรจุภัณฑ์กลับ เพื่อส่งต่อให้บริษัทที่เกี่ยวข้องนำไปรีไซเคิล สร้างประโยชน์ใหม่ (Upcycling) และย่อยสลายอย่างเหมาะสม โดยส่งมอบอาหารไป 15,000 มื้อ เก็บบรรจุภัณฑ์กลับทั้งหมดกว่า 5,000 ชิ้น ช่วยลดขยะอาหาร 3 ตัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 8 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ซีพีเอฟ สานต่อการดำเนินโครงการ Circular Mealปีที่ 2 โดยในปี 2565 นี้ นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นหลักในการทำโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการ Reduce-Recharge-Reborn ประกอบด้วย Reduce เป็นการลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) และการเกิดขยะอาหาร (Food Waste) Recharge ร่วมเติมพลังชีวิตแก่ผู้ขาดแคลน ผ่านมื้ออาหารปลอดภัย สด สะอาดจากกระบวนการจัดการอาหารส่วนเกิน ที่ถูกหลักอนามัยตามหลักทางโภชนาการที่เหมาะสม และ Reborn ร่วมสร้างชีวิตใหม่ ทั้งคนและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ เพื่อเติมความสมดุลระบบนิเวศ ลดผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด

กิจกรรมภายใต้โครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก”ปีนี้มีเป้าหมายส่งมอบอาหารปลอดภัยและมีโภชนาการทั้งหมด 15,000 มื้อ โดยตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ได้ส่งมอบอาหารให้ชุมชน และอีกส่วนหนึ่งเป็นการสนับสนุนอาหารให้โครงการ Education for the Deaf (EDeaf) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษาและสร้างทักษะในการประกอบอาชีพให้แก่ผู้พิการทางการได้ยิน ให้มีโอกาสทางการศึกษาและประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ในอนาคต

ด้านนายยุทธกฤต เฉลิมไทย ผู้ก่อตั้งโครงการ EDeaf Education for the Deaf กล่าวว่า โครงการ EDeaf เป็นการรวมกันของอาสาสมัครและทุกภาคส่วน โดยมีภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟที่ให้การสนับสนุนมาตลอดทั้งโครงการฯ ขอขอบคุณซีพีเอฟแทนน้องๆ และอาสาสมัครที่บริษัทให้ความสำคัญกับการศึกษาของผู้พิการทางการได้ยินและการเปิดพื้นที่ร่วมกันในสังคม

ทั้งหมดนี้ คือ การตอกย้ำ การปฏิรูประบบอาหารที่ยั่งยืน “CPF Circular Food System Transformation” ซีพีเอฟมุ่งมั่นในการผลิตอาหารอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อสร้างความั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่คุณค่าและผนึกกำลังโดยนำศักยภาพของภาคีเครือข่ายร่วมสร้างระบบนิเวศ(Closing the loop ecosystem) เพื่อรักษาและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อที่ 2 คือ การขจัดความหิวโหย ข้อที่ 12 คือ การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน