ส่องไอเดียสร้างรายได้จาก 2 เด็กไทย สู่เส้นทางผู้ประกอบการยุคดิจิทัลแบบมือโปร! ใช้เทคโนโลยีเพิ่มรายได้-แบ่งเบาภาระครอบครัว

ต้องยอมรับว่าหลายปีมานี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นเทรนด์มาแรง และมีช่องทางให้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพฤติกรรมของผู้คนที่มีการเปลี่ยนแปลง หันมาสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเริ่มต้นทำธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะ รวมถึงสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างอิสระ เพราะไม่ถูกตีกรอบด้วยเวลา รวมถึงไม่ต้องเสียเงินเช่าหน้าร้านเหมือนในอดีต ทำให้หลายคนหันมายึดเป็นอาชีพหลัก ในขณะที่ใครทำงานประจำอยู่ก็สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนมีเป้าหมายอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง มีแนวโน้มไม่อยากทำงานประจำเพราะไม่อยากเป็นลูกจ้างเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้การทำธุรกิจออนไลน์จะดูเป็นเรื่องง่าย แต่แท้จริงแล้วการเปิดร้านขายของออนไลน์หรือทำธุรกิจออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวที่ดี เพราะไม่อย่างนั้นแล้วอาจทำให้การดำเนินธุรกิจประสบปัญหาจนทำให้ล้มเลิกการทำธุรกิจได้ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิซิตี้ มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานผ่านหลักสูตร Kenan Micro and SME Academy แหล่งรวมความรู้และทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย และผู้ที่สนใจทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านการตลาดออนไลน์ แนวคิดพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้ทางการเงิน ซึ่งล้วนเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญสำหรับอนาคต

โดยครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีจะพาไปดูแนวคิดของสองเยาวชนไทยคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าวว่าได้นำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้กับตนเองอย่างไรบ้าง

นางสาวกนกพร เรือนอิ่น กำลังดูเพจเฟซบุ๊กร้านกิจการที่บ้าน

·     ต่อยอดเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจครอบครัว จากทักษะการตลาดออนไลน์

 นางสาวกนกพร เรือนอิ่น นักศึกษา ปวช. ปี 3 สาขาการตลาด วิทยาลัยพาณิชยการบางนา หรือน้องตอง หนึ่งในผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เล่าว่า ทางบ้านทำกิจการจำหน่ายหิน ดิน ทราย ที่เป็นวัสดุสำหรับก่อสร้างอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ตนเองมีหน้าที่ช่วยคุณป้าและทางบ้านรับหน้าที่ทำรายรับรายจ่าย ในเวลาว่างและช่วงวันหยุด โดยทำมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นม. 6 ปัจจุบันกิจการของทางบ้านเปิดมากว่า 40 ปีแล้ว ส่วนใหญ่รายได้จะมาจาการขายหน้าร้านเป็นหลัก ซึ่งช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา กิจการที่บ้านได้รับผลกระทบไปด้วย ลูกค้าลดลงไปมาก ทำให้ตัวเธออยากหาช่องทางที่จะมาช่วยเพิ่มรายได้ให้กิจการที่บ้าน จนมาเจอโครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ทางวิทยาลัยฯ ส่งข้อมูลมาให้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะด้านการตลาดออนไลน์ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็น Facebook และ Line Official Account ซึ่งเธอเองได้เรียนรู้ทักษะการยิงแอดโฆษณา การสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ จนสามารถนำมาเปิดเพจบนเฟซบุ๊กเพื่อโปรโมตธุรกิจของที่บ้าน โดยตัวเธอเองทำหน้าที่เป็นแอดมินทั้งบนเพจ Facebook และ Line Official Account ทำให้กิจการเริ่มเป็นที่รู้จักและมีลูกค้ารายใหม่ทยอยเข้ามาเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 30-40%

  “รู้สึกใจมากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานผ่านหลักสูตร Kenan Micro and SME Academy ในครั้งนี้ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่สำคัญคือได้เรียนรู้อะไรต่าง ๆ มากมาย รวมถึงพี่ ๆ ผู้สอนมีความเต็มใจ ตั้งใจ และช่วยตอบข้อสงสัยทุกอย่าง รวมถึงให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือได้เรียนรู้การยิงโฆษณาบนออนไลน์ เพื่อให้ได้กลุ่มลูกค้าที่ตรงเป้าหมาย การสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้ดูน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เรามีความมั่นใจในการตอบคำถามลูกค้า และมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น รวมถึงการปลูกฝังให้เราเป็นคนตรงต่อเวลามากขึ้นอีกด้วย

นายณัฐวุฒิ สุดเกษร นักเรียน ปวช.3 วิทยาลัยพาณิชยการบางนาสายการตลาด

·        อยากแบ่งเบาภาระทางบ้าน จุดเริ่มการเรียนรู้ทักษะสู่การเป็นผู้ประกอบการ ใช้ออนไลน์สร้างรายได้

     อีกหนึ่งเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่น นายณัฐวุฒิ สุดเกษร นักเรียน ปวช.3 วิทยาลัยพาณิชยการบางนาสายการตลาด หรือน้องไอซ์ เผยว่า ตอนที่เรียนอยู่ ปวช. ปี 2 ตนเองได้ทดลองขายคุกกี้ร่วมกับเพื่อนอยู่ก่อนแล้ว จนมาเจอช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้ทางบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนักด้านปัญหาภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งตนเองในฐานะพี่คนโตอยากแบ่งเบาภาระของครอบครัว จึงตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจออนไลน์โดยขายคุกกี้นิ่มกับเพื่อนต่อมาเรื่อย ๆ โดยคุกกี้ของทางร้านจะมีอยู่ประมาณ 8 – 10 ไส้ และเน้นขายแค่คุกกี้เป็นหลัก พอหลังจากที่ตนเองได้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมและได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงทักษะการตลาดออนไลน์ทั้งบน Facebook และ Line Official Account ทำให้ตนเองได้นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาการบริการในธุรกิจของตัวเอง เช่น เพิ่มสินค้าที่เป็นเค้กหน้านิ่มเข้ามาขายนอกจากคุกกี้ และยังมีการเปิด Line Official Account เพิ่มขึ้นมา พร้อมจัดทำโปรโมชันให้น่าสนใจ เพื่อดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่และยังคงลูกค้าเก่าไว้ได้ ทำให้สามารถสร้างกำไรในการทำธุรกิจได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15% โดยในอนาคตมีแผนจะรับสินค้าจากที่อื่นมาขายเพิ่ม เช่น อาหารคลีน และขนมต่าง ๆ เพื่อขยายธุรกิจให้มีความหลากหลายขึ้น รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอีกด้วย

    “ตลอดการเข้าร่วมโครงการฯ ผมได้รับโอกาสในการเรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ รวมถึงการสร้างช่องทางการขายสินค้าเพิ่มเติม อีกทั้งอาจารย์ผู้สอนมีความเป็นกันเองกับนักเรียนมาก อธิบายได้กระชับ ชัดเจน และเข้าใจง่าย รู้สึกดีใจมากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ และอยากให้จัดอบรมแบบนี้ต่อไปให้กับน้อง ๆ พี่ ๆ เพื่อให้พวกเขาได้นำความรู้ไปต่อยอดได้อย่างมีคุณค่าเช่นเดียวกันเหมือนกับผม”

Online shopping landing page, smartphone screen with application icons for making purchases and customer order in internet, digital technologies for shops and stores, neon cartoon vector illustration

          ด้าน นางสาววันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ตัวแทนมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่คือทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง แต่พบว่าปัญหาการเข้าถึงตลาดแรงงานของคนรุ่นใหม่กลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิซิตี้ เห็นถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือเยาวชนเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ภายใต้กรอบแนวคิดริเริ่ม Pathway to Progress โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการว่างงานในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านการเสริมพลัง เสริมประสบการณ์การทำงาน และความรู้ทางการเงิน เพื่อบ่มเพาะพื้นฐานความคิดแบบผู้ประกอบการ รวมถึงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้กลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่สามารถสร้างอนาคตที่ปรารถนาได้ด้วยตนเอง อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเยาวชน และครอบครัว รวมถึงนำไปสู่การมีบทบาทขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับชุมชน และประเทศชาติในลำดับต่อไปได้

    สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิซิตี้ได้ที่  www.citifoundation.com

###

เกี่ยวกับ มูลนิธิซิตี้

มูลนิธิซิตี้ มีบทบาทในการทำงานที่ส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนทั่วโลกให้ดีขึ้น ด้วยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินอย่างทั่วถึง การสร้างอาชีพสำหรับเยาวชน รวมถึงสร้างสภาพเศรษฐกิจของชุมชนที่ดีขึ้น นอกจากการให้ความช่วยเหลือแล้ว มูลนิธิซิตี้ ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะสถาบันการเงินชั้นนำ และความพร้อมของพนักงาน ที่สนับสนุนให้พันธกิจของบริษัทประสบความสำเร็จ และขับเคลื่อนแนวคิดความเป็นผู้นำ และนวัตกรรม ดูข้อมูลเพิ่มเติมของมูลนิธิฯ ที่ www.citifoundation.com

 

เกี่ยวกับ “ซิตี้”

ธนาคารชั้นนำของโลก ที่ให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 200 ล้านราย ในกว่า 160 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก ซิตี้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายให้กับลูกค้าบุคคล องค์กร ภาครัฐและสถาบันต่างๆ โดยธุรกิจหลักครอบคลุมการธนาคารและสินเชื่อเพื่อลูกค้าบุคคล (สายบุคคลธนกิจ) ธนาคารเพื่อองค์กรและการลงทุน (สายสถาบันธนกิจและวาณิชธนกิจ) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ บริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ รวมถึงบริการบริหารความมั่งคั่ง ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.citibank.co.th | เฟซบุ๊ก: Citi Thailand  | LINE: Citi Thailand