รู้ไหม? เจ้าสุนัขก็เสี่ยงเป็น “โรคหัวใจ”

ทาสทั้งหลายรู้ไหมคะ ? ว่า “โรคหัวใจ” นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนอย่างเดียว แต่เจ้าตูบก็สามารถเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน (Talingchan Animal Hospital) มีเรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้มาฝากค่ะ

ก่อนอื่นเริ่มจากโรคหัวใจ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

1. โรคลิ้นหัวใจเรื้อรัง

โรคลิ้นหัวใจรั่วจะทำให้ประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจเพื่อนำไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง ซึ่งเป็นความผิดปกติของหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัข

2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ

อาการผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการหนาตัวหรือผนังห้องหัวใจบางและอ่อนแอ มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจลดลง ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในแมว

โรคหัวใจทั้ง 2 ชนิดนี้ จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นโดยใช้ระยะเวลา แต่ทั้ง 2 ชนิด สามารถก่อให้เกิดภาวะที่มีความรุนแรงต่อการทำงานของหัวใจที่เรียกว่า หัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

สาเหตุของโรคหัวใจ มักเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ได้แก่

–  สภาพร่างกาย สุนัขและแมวที่มีน้ำหนักเกินจะมีความเสี่ยงสูงได้

–   อายุ สุนัขที่พบว่าเป็นโรคหัวใจมักจะเป็นสุนัขที่มีอายุมาก แต่ก็สามารถพบได้ในสุนัขแรกเกิดหรือหลังเกิด หรือ ช่วงกลางของชีวิติ

–    สายพันธุ์  สุนัขพันธุ์เล็กมักเป็นโรคนี้ เช่น พุดเดิ้ล, มินิเอเจอร์ชเนาเซอร์, ชิวาวา, ฟอกซ์เทอร์เรียร์, ค็อกเกอร์สแปเนียล ฯลฯ แต่ในกรณีโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ มักเกิดในสุนันพันธุ์ใหญ่ อาทิ เกรทเดน, โดเบอร์แมน, อัพกันฮาวนด์  ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น อิงลิชบูลด็อก เป็นต้น

อาการของโรคหัวใจ

อาการโรคหัวใจในสุนัขค่อนข้างไม่แน่นอน สามารถบ่งบอกได้ยากเพราะมักคล้ายกับความผิดปกติของโรคอื่น ๆ อาจจะพบได้ตั้งแต่ประเภทที่ไม่สามารถสังเกตอาการได้จนถึงสามารถสังเกตพบอาการ แต่อาการจะมีความเด่นชัดหรือมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อการพัฒนาของโรคหัวใจมีมากขึ้น อาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น

1. อ่อนเพลียง่ายหรือขาดพลังงาน

2. หายใจลำบาก

3. ไม่กินอาหารและน้ำหนักตัวลดลง

4. มีการไอบ่อย ๆ

5. อ่อนแอ เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้น้อยลง

6. เป็นลม หมดสติ

7. ท้องบวมขยายใหญ่

แนวทางการวินิจฉัยโรคหัวใจในสุนัข

1. ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจและปอด

ประวัติและอาการที่เจ้าของตรวจพบจะเป็นข้อมูลที่ช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจได้ เพราะบางครั้งสัตว์เลี้ยงอาจไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นขณะที่ทำการตรวจ เช่น การไอเสียงเบาในลำคอร่วมกับมีอาการรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืนและหายใจลำบาก หรือหัวใจเต้นเร็วร่วมกับชีพจรเบา มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ

การฟังที่ช่องอกก็ทำให้ทราบอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจได้ นอกจากนี้อาจมีการตรวจคลำดูลักษณะการเต้นของชีพจรว่ามีความดัง- เบาและสัมพันธ์กับการเต้นของหัวใจหรือไม่ เพราะสามารถใช้บ่งบอกถึงโรคของหัวใจบางอย่างได้ รวมถึงการฟังและการเคาะที่ช่องอกจะช่วยบ่งชี้สภาวะความผิดปกติของปอด เช่น มีน้ำ อากาศ ความแน่นทึบ ในช่องอกหรือไม่

2. ตรวจเลือดทั่วไป ตรวจค่าการทำงานของตับ ไต ตรวจโรคพยาธิหนอนหัวใจ

การตรวจนับเม็ดเลือด เช่น กรณีที่สงสัยว่ามีโรคติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ

การตรวจพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm Disease) ตรวจวัดระดับแอนติเจน (พยาธิหัวใจตัวแก่) หรือตรวจหาไมโครฟิลาเรีย (พยาธิหัวใจตัวอ่อนที่อยู่ในกระแสเลือด)

การตรวจค่าไต (Urea, Creatinine) ในกรณีที่สงสัยว่ามีปัญหาการทำงานของไต เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงที่ไตไม่พอ

การตรวจวัดความผิดปกติของอิเล็กโตรไลต์

การตรวจวัดเอ็นไซม์จากตับ (ALP, ALT) ในกรณีที่สงสัยว่ามีภาวะขาดออกซิเจน

การตรวจวัดระดับ CPK ซึ่งอาจสูงจากการเกิด การเสื่อมหรือการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ

3. เอ็กซเรย์ช่องอก

เพื่อประเมินขนาดหัวใจและปอดว่ามีความปกติหรือไม่ การเอ็กซเรย์ช่องอกและส่วนคอเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากในการวินิจฉัยแยกโรคหัวใจออกจากโรคระบบทางเดินหายใจ โดยจะเอ็กซเรย์ในขณะที่น้องหมาหายใจเข้าลึกที่สุด 2 ท่า คือ ท่านอนหงายและนอนตะแคง ภาพเอ็กซเรย์จะทำให้เราสามารถเห็นสภาพของปอด หลอดลม เส้นเลือดในปอด และช่องอก ซึ่งบอกถึงความผิดปกติที่อาจเกิดจากโรคของระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจได้

4. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

การวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความสำคัญในน้องหมาบางตัวที่ตรวจพบการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับโรคของปอดหรือโรคของหัวใจเองที่ไม่สามารถตรวจพบจากการเอ็กซเรย์ช่องอก เช่น เกิดความผิดปกติของการนำกระแสประสาทหัวใจหรือมีการขยายใหญ่ของหัวใจ

5. อัลตร้าซาวด์หัวใจ

เพื่อดูโครงสร้างภายในของหัวใจที่อาจมีความผิดปกติ เช่น การปิดไม่สนิทของลิ้นหัวใจ การรั่วของผนังห้องหัวใจ หรือการตีบแคบของหลอดเลือดที่หัวใจ การมีน้ำในถุงหุ้มหัวใจ เป็นต้นนอกจากนี้ยังสามารถใช้วัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ การบีบตัวและการคลายตัวได้

                โรคหัวใจในสุนัขสามารถรักษาได้ แต่อาจจะไม่มีการรักษาแบบใดที่สามารถรักษาโรคหัวใจของสุนัขได้ทุกชนิด ทั้งนี้ ความสำเร็จของการรักษาโรคหัวใจสุนัขขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยสัตว์ที่ป่วยโรคหัวใจสามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยการออกกำลังกาย การใช้ยา รวมถึงการเลือกกินอาหารที่ถูกต้องร่วมกับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ แต่การตรวจพบปัญหาโรคหัวใจในระยะแรก ๆ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะจะเป็นการช่วยรักษาชีวิตน้องหมาได้เร็ว ทำให้น้องอยู่กับเราได้อีกนาน