ซีพีเอฟ หนุนคลังอาหารของ รร.-ชุมชน ฝ่าโควิด ปันผลผลิต “โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ” บริโภคเพียงพอ

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้หลายโรงเรียนยังไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนในสถานศึกษา แต่การเรียนรู้ของเยาวชนนั้นหยุดไม่ได้ นักเรียนจึงต้องเรียนที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงให้กับเด็กนักเรียนให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด

ขณะเดียวกัน การสร้างโภชนาการที่ดีให้กับเยาวชน ก็เป็นสิ่งที่หยุดไม่ได้เช่นกัน อย่างเช่น โรงเรียนที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน วันนี้ นอกจากคุณครูจะมีภารกิจในการส่งหนังสือเรียนหรือใบงานให้ถึงที่บ้านนักเรียนแล้ว ยังทำหน้าที่เดลิเวอรีอาหารส่งมอบให้ถึงมือเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาได้อิ่มท้องด้วย โครงการนี้ได้แรงหนุนสำคัญจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เพื่อสนับสนุนให้เด็กๆ ในถิ่นทุรกันดาร มีโปรตีนคุณภาพดีจากไข่ไก่เป็นอาหารกลางวัน ช่วยส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศ มานานกว่า 32 ปี 

มาดูการบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ของ ศูนย์การเรียนรู้ อา โยน อู ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โรงเรียนชายขอบซึ่งมีทั้งเด็กนักเรียนไทยและเด็กชาติพันธุ์ ที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ มาตั้งแต่ปี 2559เพื่อสร้างแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืน โดยมีเยาวชนในศูนย์ฯ ร่วมรับผิดชอบโครงการ และยังเป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะอาชีพเพื่อนำไปใช้ได้ในอนาคต 

นายจ่อซาน ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ฯ เล่าว่า ที่ศูนย์ฯ เลี้ยงไก่ไข่ 120 ตัว ในสถานการณ์โควิดระบาด แม้ว่านักเรียนจะต้องเรียนที่บ้าน แต่ยังได้บริโภคไข่ไก่ โดยผลผลิตไข่ไก่ในแต่ละวันจะถูกจัดสรรครึ่งหนึ่งเก็บไว้ เพื่อให้ในแต่ละสัปดาห์คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ จะนำผลผลิตไข่ไก่ ข้าวสารและน้ำมันพืช ไปแจกตามบ้านนักเรียนให้ผู้ปกครองนำไปปรุงอาหารให้กับนักเรียนได้รับประทานที่บ้านเท่าที่จะมีโอกาสนำไปให้ได้ ไกลที่สุดห่างจากศูนย์ฯ ประมาณ 10 กิโลเมตร ส่วนผลผลิตอีกครึ่งหนึ่ง จะจำหน่ายให้ผู้ปกครองในราคาต่ำกว่าท้องตลาด แผงละ 30 ฟอง ราคา 80 – 85 บาท เพื่อช่วยลดค่าครองชีพชุมชน รวมถึงจำหน่ายให้กับศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่อื่นๆ ทำให้สามารถบริหารการผลิตและการตลาดเพื่อให้มีผลกำไรเป็นทุนต่อไปได้

ที่โรงเรียน ตชด. บ้านเขาสารภี ตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ..หญิงสำรวย อินอุ่นโชติ บอกว่าโรงเรียนถือเป็น ตชด. รุ่นแรกๆ ที่ได้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ จนถึงวันนี้เป็นปีที่ 24 แล้ว และในช่วงวิกฤตโควิด-19 โรงเรียนยังคงสนับสนุนให้นักเรียนที่เป็นเด็กไทยและกัมพูชา ทั้ง 74 คน ได้บริโภคไข่ไก่เสริมโภชนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยครูใหญ่มอบหมายให้คุณครูประจำชั้นนำผลผลิตจากแม่ไก่ไข่ 100 ตัว ที่ให้ไข่วันละ 90 กว่าฟอง ไปแจกจ่ายถึงที่บ้านคนละ 15 ฟองทุกสัปดาห์ และผลผลิตทางการเกษตรในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ทั้งปลาดุกและพืชผัก ให้ผู้ปกครองใช้ปรุงเป็นอาหารให้เด็กๆ เพราะ 90% ของเด็กที่นี่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย เนื่องจากพ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด เด็กบางคนไม่มีพ่อแม่ดูแล อาหารที่ได้รับไปจึงช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้เป็นอย่างดีโรงเรียนอนุญาตให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงกับโรงเรียนเข้ามาเก็บผลผลิตได้ พร้อมแบ่งเมล็ดพันธุ์ผักให้นำไปปลูกที่บ้านด้วย และหลังการปลดระวางแม่ไก่ทุกรุ่น ผู้ปกครองจะขอซื้อแม่ไก่ไปเลี้ยงต่อ บ้านละ 5 – 10 ตัว ทำให้มีไข่ไก่บริโภคทุกวัน และในสถานการณ์เช่นนี้ สหกรณ์ก็ยังคงจำหน่ายไข่ไก่ในราคาย่อมเยา แผงละ 30 ฟอง ในราคา 85 บาท เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับชาวบ้านในชุมชน 

ส่วนโรงเรียน ตชด. บ้านควนตะแบก ตำบลเกาะเต่า อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ..วีรพงศ์ สังข์แก้ว ครูผู้รับผิดชอบโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เล่าว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ มาเป็นปีที่ 13 เมื่อสถานการณ์โควิดทำให้เด็กนักเรียนทั้ง 110 คน มาเรียนไม่ได้ ครูจึงมีหน้าที่เติมพลังกายให้พวกเขาด้วยการมอบไข่ไก่ ที่ได้จากแม่ไก่ 200 ตัว นำไปให้กับนักเรียนทุกคน คนละ 15 ฟองต่อสัปดาห์ ส่วนพืชผักที่ปลูกในโรงเรียนครูจะแจ้งให้ผู้ปกครองและนักเรียนเข้ามารับได้ฟรี และเพื่อให้สามารถสร้างอาหารที่ยั่งยืนในครัวเรือนตนเองได้ โรงเรียนจึงสนับสนุนให้เด็กๆ นำเมล็ดพันธุ์ผักไปปลูกเองที่บ้านจากพื้นฐานความรู้ด้านเกษตรที่พวกเขาได้เรียนมาต่อยอดสู่การปฏิบัติจริง ถือเป็นการเรียนรู้ทักษะอาชีพไปพร้อมกัน ขณะที่ ผลผลิตไข่ไก่ส่วนหนึ่งจะนำไปจำหน่ายให้ชุมชนในเขตบริการ3 หมู่บ้าน มีไข่วันละ 150 – 160 ฟอง จำหน่ายราคาแผงละ 90 บาท กลายเป็นคลังอาหารของชุมชน ได้บริโภคผลิตภัณฑ์ไข่ไก่คุณภาพดี สดใหม่ทุกวัน ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด 

ความเข้มแข็งของโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่มีโรงเรียนและครูเป็นผู้ขับเคลื่อน ภายใต้การสนับสนุนของซีพีเอฟและมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท วันนี้ได้เห็นผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ สะท้อนผ่านความมั่นคงทางอาหารที่โรงเรียนเป็นผู้ผลักดันให้คลังอาหารในโรงเรียน สามารถหล่อเลี้ยงทั้งนักเรียนและชุมชนให้ก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน