ชุมชนแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และพึ่งพา ซีพีเอฟ หนุนสร้างความมั่นคงทางอาหาร ร่วมฝ่าโควิด 19   

ผืนป่าที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เทียบกับสภาพป่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน พันธุ์ไม้หลากชนิดเติบโตจากกล้าเล็กๆ  เป็นต้นไม้เขียวชะอุ่มเต็มพื้นที่  จากการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือ 3 ประสานของกรมป่าไม้  ชุมชนรอบพื้นที่ และ ภาคเอกชน คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  ที่ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง”

ไม่เพียงผลสำเร็จพลิกผืนป่าแห้งแล้ง 5,971 ไร่ กลับคืนสู่ป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์  ปัจจุบัน ชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง มีแหล่งอาหารที่ยั่งยืน โดยมีซีพีเอฟสนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหาร  ดำเนินโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุขชุมชนพื้นที่เขาพระยาเดินธง ทำกิจกรรมปลูกผักตามวิถีธรรมชาติ และ ปล่อยปลาลงเขื่อน ซึ่งบริษัทมอบอุปกรณ์ถังกักเก็บน้ำ สายยางฉีดน้ำ  ระบบน้ำหยดให้กับสมาชิกโครงการปลูกผัก และสนับสนุนอุปกรณ์การเพาะพันธุ์ปลา ถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิกโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน  

ประทีป อ่อนสลุง ชาวบ้านตำบลโคกสลุง ปราชญ์ชาวบ้าน ในฐานะผู้ประสานงานหลักของโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุขปลูกผักตามวิถีธรรมชาติ เล่าว่า  ซีพีเอฟร่วมกับกรมป่าไม้และชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง  ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า และส่งเสริมชุมชน ทำกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร  โครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักตามวิถีธรรมชาติ ระยะที่หนึ่ง (ปี 2562-2563) สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการครอบคลุม 7 หมู่บ้าน มีผลผลิตผักเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ครัวเรือนมีรายได้จากการจำหน่ายผักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  

สำหรับครัวเรือนที่ปลูกผักไว้บริโภคเองสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ โดยในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด 19 รอบแรกต้นปี 2563และการระบาดรอบใหม่  ชุมชนไม่ได้รับผลกระทบเรื่องอาหารเพราะมีผลผลิตที่สะอาดและปลอดภัยเพียงพอบริโภค

นอกจากนี้ ผลผลิตผักที่เหลือ   ชาวบ้านมีการส่งเมล็ดพันธุ์เก็บไว้ที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ชาวบ้านคนอื่นๆที่สนใจสามารถแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูก และขยายพันธุ์ต่อไป  ซึ่งปัจจุบันมีชนิดของเมล็ดพันธุ์ ที่ได้รับจากสมาชิก 45 ชนิด อาทิ มะเขือยาวม่วงพราว มะเขือไข่เต่า มะเขือหยดน้ำทิพย์  มะเขือคางกบ มะเขือเทศสีดา  ถั่วฝักยาวแดง ถั่วฝักยาวสีม่วง กระเจี๊ยบมณีแม่โจ้ เป็นต้น 

ชุมพล สำราญสลุง  หรือ ลุงพล  ชาวบ้านหมู่ 4  ต.โคกสลุง  อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี  มีรายได้หลักจากการทำนา ขณะเดียวกันลุงพลจัดสรรพื้นที่ของตัวเอง 2 ไร่ สำหรับปลูกไม้ยืนต้นและปลุูกผักสวนครัว  อาทิ  ลิ้นจี่ ลำไย น้อยหน่า ฯลฯ  นอกจากนั้นมีไม้ล้มลุก ผักสวนครัวที่ปลูกไว้ระหว่างแนวที่ปลูกผลไม้ เพื่อเก็บผลผลิตบริโภคในครัวเรือน แบ่งปันให้เพื่อนบ้าน ส่วนผลผลิตที่เหลือจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เองเพื่อปลูกและขยายพันธุ์ต่อไป  อีกส่วนส่งเข้าธนาคารเมล็ดพันธุ์ของชุมชน ลุงพล เล่าว่า วันๆ ลุงใช้ชีวิตอยู่กับนา ดูแลสวนผลไม้ ผักสวนครัว ผลผลิตที่ปลูกไว้ ทำให้ลุงไม่ต้องออกไปซื้อที่ตลาด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด 19  มีอาหารบริโภคพอเพียง 

 ชุติมา ขาวโชติ วัย 55 ปี หรือ ตุ๊กตา ชาวบ้านหมู่ 3 ต.ห้วยบง อ.พัฒนานิคม จ. ลพบุรี เป็นอีกครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการปลูกตามวิถีธรรมชาติ และซีพีเอฟสนับสนุนอุปกรณ์ถังกักน้ำและสายยางฉีดน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร   ตุ๊กตา เล่าว่า ปัจจุบัน  มีรายได้ทางเดียวจากการนำผักและผลไม้  เช่น กล้วยสุก กล้วยดบ ละมุด ขนุน ฟักทอง มะเขือ ฯลฯ  ขายให้ชาวบ้าน  โดยเฉลี่ยรายได้จากการขายผักและผลไม้ประมาณ 400-500 บาทต่อสัปดาห์  ตุ๊กตาอยู่กับลูกสาว 2 คนตามลำพัง จึงต้องกินอยู่อย่างพอเพียง แต่ละมิ้อก็เก็บผักที่ปลุูกไว้มาเป็นอาหารช่วยลดค่าใช้จ่ายในบ้านได้

ด้านกีรติศักดิ์ สุวรรณธนะกรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 โคกสลุง ในฐานะประธานโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปล่อยปลาลงเขื่อน เปิดเผยว่า  โครงการปล่อยปลาลงเขื่อนเป็นโครงการที่ซีพีเอฟสนับสนุนการเรียนรู้และอุปกรณ์การเพาะพันธุ์ปลา พร้อมกับนำประสบการณ์จากการดำเนินธุรกิจมาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ปลาให้สมาชิกของโครงการฯ รวมทั้งการอนุบาลปลาก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำเพื่อเพิ่มอัตรารอดของปลา ทำให้มีปริมาณปลาเพิ่มขึ้น  ชาวบ้านที่ทำประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นสมาชิกของโครงการ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายปลา จากเดิมที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 7,000-9,000 บาท มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 3,000 – 4,000 บาท ชุมชนในพื้นที่เองได้ประโยชน์จากการมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์     

โครงการยุทธศาสตร์สร้างสุขชุมชนพื้นที่เขาพระยาเดินธง  เป็นโครงการที่ซีพีเอฟสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ต่อยอด”โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชน โดยซีพีเอฟใช้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์สู่ชุมชน  พร้อมทั้งสนับสนุนการตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินโครงการได้อย่างยั่งยืน