ตู้เย็นชุมชน ส่งเสริมอาหารคุณภาพดี ปลอดภัยสู่พื้นที่ห่างไกล

วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้เรื่องของอาหาร ไทยก็มีการจัดการให้เพียงพอต่อความต้องการ และต้องถือว่าความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ทุกคนให้ความใส่ใจในภาวะวิกฤติเช่นนี้ โครงการ “ตู้เย็นชุมชน” ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทาง นอกจากช่วยส่งเสริมการสร้างอาชีพแล้ว ยังส่งมอบอาหารปลอดภัยและได้มาตรฐานแก่คนในชุมชน

พัชรี คำมูลนา อายุ 40 ปี เจ้าของร้านตู้เย็นชุมชน ใน ต.ดินดำ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด อดีตพนักงานบริษัท เล่าถึงที่มาของ “ตู้เย็นชุมชน” แห่งนี้ ว่า ร้านนี้เปิดมา 2-3 ปีแล้ว เดิมเป็นพนักงานประจำมา 10 ปี แต่มีความตั้งใจอยากกลับมาอยู่บ้าน เพื่อดูแลคนในครอบครัว พอทราบข้อมูลว่ามีโครงการนี้ จึงสนใจและศึกษารายละเอียด เพราะขณะนั้นในชุมชนไม่มีร้านค้าของสด ชาวชุมชนส่วนใหญ่ต้องเดินทางกว่า 20 กม. เข้ามาตัวเมือง เพื่อซื้อของสดครั้งละจำนวนมากกลับไปกักตุนที่บ้าน คิดว่านี่คือโอกาสที่จะนำของสดมีคุณภาพเข้าไปในชุมชน และด้วยประสบการณ์การทำงาน ทราบดีว่าสินค้าของซีพีเอฟได้มาตรฐานและปลอดภัยจริงๆ จึงอยากเป็นช่องทางให้คนในชุมชนเข้าถึงแหล่งอาหารที่ดี

หลังจากเปิดร้านตู้เย็นชุมชน ก็เริ่มศึกษาพฤติกรรมของคนในชุมชนว่าต้องการสินค้าอะไรเป็นหลัก ซึ่งสินค้าที่คนนิยมซื้อ ได้แก่ หมูสด ไก่สด และเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป คือพวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารสะดวกขึ้น จากที่ต้องซื้อสินค้าสดมากักตุน ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาซื้อในปริมาณที่ต้องการ ไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บรักษาและปัญหาของเน่าเสีย เพราะสินค้าสดใหม่วันต่อวัน แช่ตู้เย็นในอุณหภูมิที่เหมาะสม ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจและเลือกที่จะมาจับจ่ายมากขึ้น ที่สำคัญคือราคาสมเหตุสมผล” พัชรี กล่าว

พัชรี เล่าต่อว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ตลาดและร้านค้าหลายร้านต้องปิด แต่ร้านตู้เย็นชุมชนยังคงเปิดขายตามปกติ เพราะบริษัทจัดการเรื่องการขนส่งสินค้าได้ทุกวัน ทำให้คนในชุมชนสามารถซื้อของสดได้ตลอด ตอนนี้ชุมชนรอบข้างก็เดินทางมาซื้อของที่ตู้เย็นชุมชนแห่งนี้ ซึ่งเราก็ดีใจที่สินค้าคุณภาพดี ขยายวงกว้างเข้าถึงชุมชนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ด้าน ผกาวรรณ สวัสดีลาภา อายุ 30 ปี อดีตพยาบาลจากกรุงเทพฯ ที่ผันตัวมาเปิด “ตู้เย็นชุมชน” ใน ต.นางแดด อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เล่าว่า จุดเริ่มต้นคืออยากหาอาชีพทำที่บ้าน จึงมองหาสิ่งที่เหมาะกับตนเอง จนมาพบกับโครงการนี้ เพราะชุมชนอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กม. บางคนยังต้องเดินทางไปกลับเพื่อหาซื้อของสดมาเก็บไว้ที่บ้าน ความสะดวกสบายมีไม่มากนัก ขณะเดียวันอยากได้สินค้าที่ยังไม่มีในชุมชน จึงเลือกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ที่กำลังเป็นที่นิยมและทานได้ทุกกลุ่มวัย เพราะสะดวกในการรับประทาน เพื่อมาขายในชุมชน โดยเจ้าหน้าที่ของซีพีเอฟเข้ามาช่วยสอนการจัดหน้าร้านและการทำบัญชี เพื่อให้มีระบบยิ่งขึ้น

ช่วงแรกๆ ที่เปิดร้านตู้เย็นชุมชน คนในพื้นที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้านำกลับไปประกอบอาหารที่บ้าน เราก็ค่อยๆ ศึกษาว่าสินค้าอะไรที่คนนิยม อย่างเด็กๆ เข้ามาซื้อไส้กรอก เรารู้สึกดีใจที่พวกเขาได้ทานอาหารดีมีประโยชน์ ถือเป็นอีกเหตุผลที่เราเลือกสินค้าของซีพีมาจำหน่าย เพราะผลิตภัณฑ์อาหารมีคุณภาพจริงๆ และมั่นใจได้ว่า คนในชุมชนจะได้รับอาหารมีมาตรฐาน ไร้สารปนเปื้อน รวมถึงดีต่อสุขภาพอีกด้วย” ผกาวรรณ กล่าว

ตู้เย็นชุมชน  เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน โดยนำอาหารมีคุณภาพและปลอดภัยสู่ชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เป็นอีกทางเลือกแก่ผู้บริโภค ทำให้การเข้าถึงแหล่งอาหารที่ดีได้ง่ายขึ้น เพื่อเสริมสร้างคุณประโยชน์ต่อร่างกายและยังสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ชุมชน

ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำด้านอาหารระดับโลก เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีถึงบทบาทและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทย เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ เข้าถึงอาหารปลอดภัยและได้มาตรฐาน “ตู้เย็นชุมชน” เป็นโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ ที่ไม่เพียงสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเท่านั้น ยังรวมถึงการสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงอาหารปลอดภัย