“อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ซีพีเอฟร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารในรร.และชุมชน 

“ร้านอิ่มสุข โรงเรียนบ้านกระเทียม” ร้านค้าสวัสดิการโรงเรียนที่จำหน่ายผลผลิตของโรงเรียนบ้านกระเทียม(ราษฎร์วิทยาคม) จากโครงการ”ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” มีทั้งผักสวนครัว มะนาว ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ชะอม บวบ กวางตุ้ง   ไข่ไก่  และสินค้าอื่นๆ  เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ กุ้งสด ซึ่งชุมชนในพื้นที่และชุมชนรอบข้างสามารถเข้ามาซื้อสินค้าในร้านดังกล่าวได้ด้วย  นอกจากส่งเสริมเด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียนแล้ว ยังเป็นช่องทางให้ชุมชนเข้าถึงอาหารคุณภาพและปลอดภัยอีกด้วย  

โรงเรียนบ้านกระเทียม(ราษฎร์วิทยาคม) โรงเรียนขนาดกลางที่มีจำนวนนักเรียน 399 คน ตั้งอยู่ที่ ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เป็นโรงเรียนในโครงการซีพีเอฟ อิ่ม  สุข ปลูกอนาคต ที่มีการจัดตั้ง”ร้านอิ่มสุข” เพื่อจำหน่ายผลผลิตของโรงเรียนที่มาจากกิจกรรมด้านการเกษตร ขยายผลกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน จากการฝึกทักษะอาชีพผ่านการลงมือปฎิบัติจริงใน 10 กิจกรรม ของโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  ขยับสู่การเรียนรู้เรื่องการจัดการผลผลิต  การจำหน่าย การตลาด  และการคำนวณกำไรและต้นทุน

“สุเทพ เกิดสมนึก” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกระเทียมฯ  กล่าวว่า “ร้านอิ่มสุข  โรงเรียนบ้านกระเทียม”  มีจุดเริ่มต้นมาจากโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่มีมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทและซีพีเอฟสนับสนุนตั้งแต่ปี 2560 จากนั้นซีพีเอฟต่อยอดนำองค์ความรู้เรื่องการเกษตรเข้ามาเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารครบทุกมิติ โดยเฉพาะโรงเรียนสามารถพึ่งพาตนเองในการผลิตอาหารได้อย่างเพียงพอ ผ่านโครงการซีพีเอฟ อิ่มสุข ปลูกอนาคต ปัจจุบัน โรงเรียนมีฐานกิจกรรมด้านเกษตร  10 กิจกรรม  ประกอบด้วย โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน โครงการอุโมงค์ผักและศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา โครงการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์  โครงการปลูกผักสวนครัวในหลุมพอเพียง  โครงการไม้ผลแบบผสมผสาน  โครงการนาข้าวอินทรีย์  โครงการปลูกพืชไร่แบบผสม   โครงการปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์  โครงการแปลงผักปลอดสาร และ โครงการร้านค้าอิ่มสุข โรงเรียนบ้านกระเทียม

“ทางซีพีเอฟเห็นว่าผลผลิตที่โรงเรียนผลิตได้จาก 10 กิจกรรมมีปริมาณมาก จึงแนะนำให้โรงเรียนมีร้านค้าสวัสดิการขึ้นเป็นช่องทางกระจายสินค้าสู่ชุมชนรอบข้าง ไม่เพียงช่วยให้ ชาวบ้านในพื้นที่และชุมชนรอบข้างเข้าถึงแหล่งอาหารที่เหมาะสม ได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัย ได้เข้าถึงอาหารที่สะอาดปลอดภัย  ที่สำคัญ นักเรียนจะได้เรียนรู้การผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสม ควบคู่กับวิธีการบริหารจัดการร้านค้า เป็นทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต   โดยมอบหมายให้นักเรียนชั้นป.5 และ ป.6  ช่วยคุณครูดูแลร้านค้าอิ่มสุข  ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง  ซึ่งหลังจากโรงเรียนเปิดให้บริการร้านอิ่มสุขมาแล้ว  4-5 เดือน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าว

น.สพ.จตุรงค์ โยธารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า  โรงเรียนบ้านกระเทียมฯ จะเป็นต้นแบบของการสร้างความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนสู่ชุมชน ให้กับโรงเรียนอื่นๆ ด้วย นอกจากโรงเรียนจะมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตที่ผลิตได้เองและสินค้าอื่นๆ มีเงินหมุนเวียนในการพัฒนาโรงเรียนด้านต่างๆแล้ว นักเรียนมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน  ได้ฝึกทักษะอาชีพและเรียนรู้การจัดการด้านการผลิต การจำหน่าย การตลาด  ฯลฯ ชุมชนรอบข้างได้ประโยชน์

จากการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย  ซึ่งที่ผ่านมา มีหน่วยงานในจังหวัดสุรินทร์ที่เข้ามาขอศึกษาดูงานเพื่อเป็นต้นแบบในการนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนอื่นๆ

ด.ญ.วณิชกรณ์ คำละออ  หรือ น้องอองฟอง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ซึ่งได้รับมอบหมายให้ช่วยดูแลร้านค้าอิ่มสุข เล่าว่า  มีหน้าที่ช่วยจัดสินค้าในร้าน  ช่วยลูกค้านำสินค้าใส่ถุง และประชาสัมพันธ์ร้านค้า เริ่มจากบอกกับรอบๆ บ้าน  ตอนนี้ หลายบ้านมาเป็นลูกค้าประจำของร้านอิ่มสุข เพราะมั่นใจได้ว่าผลผลิตและสินค้าที่จำหน่ายมีคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัย  หนูและเพื่อนๆที่มาช่วยดูแลที่ร้านค้า ได้ประสบการณ์การจัดการร้านค้าที่สามารถนำมาใช้กับที่บ้านที่มีอาชีพค้าขายอยู่แล้ว

ด้าน ด.ช.สุจิน หมื่นเจริญ หรือน้องจ๊อบ นร.ชั้นป. 6 ทำหน้าที่จัดสินค้าขายสินค้าในร้าน ยิงบาร์โค้ด ทอนเงิน เล่าว่า  ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านอิ่มสุขเป็นคนในชุมชน  บ้านผมก็ซื้อสินค้าจากที่ร้านอิ่มสุขเป็นประจำ เพราะได้ของที่มีคุณภาพ และการที่ผมมีส่วนช่วยยิงบาร์โค้ด ทอนเงินให้ลูกค้า ช่วยฝึกให้มีความรอบคอบและมีความรับผิดชอบ  

โรงเรียนบ้านกระเทียมฯ  เป็น 1 ใน  80 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต โครงการที่ซีพีเอฟร่วมมือกับภาคีเครือข่าย คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ส่งเสริมเด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงโภชนาการที่ดี  ผลสัมฤทธิ์  5 ปีของการดำเนินโครงการ (ปี 2558 -2562) ช่วยบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการในเด็กและเยาวชน  โรงเรียนยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการ  เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนและชุมชน

ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร และเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการผลิตอาหารให้เพียงพอรองรับความต้องการบริโภคของประชากรในประเทศและประชากรโลก พร้อมทั้งมุ่งมั่นมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน./