ซีพีเอฟร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชน เดินหน้ายุทธศาสตร์ “สร้างสุข ปล่อยปลาลงเขื่อน”

ความมั่นคงทางอาหาร” ประเด็นที่มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด –19 สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีแหล่งอาหารที่มั่นคงของชุมชน ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากพื้นฐานของความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองของชุมชน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  ในฐานะบริษัทธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่มีความมุ่งมั่นส่งเสริมผู้บริโภคทุกกลุ่มได้เข้าถึงอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และมีคุณภาพ อย่างเพียงพอ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจสิ่งแวดล้อม อาทิ  การดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม  จ.ลพบุรี 5,971 ไร่ ในช่วงปี  2559- 2563   นอกจากเป้าหมายมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าแล้ว  ยังสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึง โครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักปลอดสาร  และโครงการยุทธศาสตร์ สร้างสุข ปล่อยป่าลงเขื่อน ทั้งสองโครงการเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน  

โดยเมื่อเร็วๆนี้่  ซีพีเอฟ โดยสายธุรกิจเป็ดเนื้อ  กรมประมง และชุมชนในเขตลุ่มน้ำป่าสัก ร่วมกันปล่อยปลาที่อนุบาลแล้วจำนวน 1 แสนตัวลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ และร่วมแก้ปัญหาปริมาณปลาในเขื่อนที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อแหล่งผลิตอาหารที่สร้างรายได้ของชุมชน

ธณพล สกุลวิวรรธน์”  รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายธุรกิจเป็ดเนื้อ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาปริมาณปลาในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ลดลง และสร้างระบบนิเวศที่สมดุล  ซึ่งในช่วง  4 ปีที่ผ่านมา ( ปี  2559-2562) ทั้ง 3  ภาคส่วนได้ร่วมกันปล่อยปลาสู่แหล่งน้ำไปแล้ว จำนวน  2.6  ล้านตัว และในปี 2563-2566 ร่วมกันดำเนินโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ชุมชนพื้นที่เขาพระยาเดินธง  ปล่อยปลาลงเขื่อน มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนปลาที่จับได้ในแหล่งน้ำ  เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานด้านการอนุบาลปลา ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ซีพีเอฟต่อยอดจากโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธงอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า  5,971 ไร่       

กีรติศักดิ์   สุวรรณธนะกรณ์”   ผู้ใหญ่บ้าน หมู่  7 ตำบลโคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี  ในฐานะประธานโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปล่อยปลาลงเขื่อน  กล่าวว่า เราเริ่มโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน  มาตั้งแต่ปี 2559 ปล่อยปลาไปเฉลี่ยปีละ 6 แสนตัว  ในอดีตปล่อยปลาไปแล้ว   พบปัญหาลูกปลามีอัตราการรอดต่ำมาก   ส่งผลต่อปริมาณปลาที่จับได้ที่หน้าท่าลดลงทุกปี กระทบกับชุมชนโดยรอบเขื่อนที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพจับปลา ชุมชนเลยหารือกับทางกรมประมง และซีพีเอฟว่า มีพื้นที่บ่อน้ำอยู่   เราก็ไม่รู้ว่า การปล่อยปลาทีละเป็นแสนๆตัวแล้ว ปลาจะโตขึ้นมากน้อยขนาดไหน  ทางซีพีเอฟนำองค์ความรู้มาช่วยทำกระชังเป็นแนวทางอนุบาลลูกปลาที่ช่วยเพิ่มอัตราการรอดของปลาที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำเพิ่มขึ้น เห็นได้จากปริมาณการซื้อขายปลาที่แพปลาในวันนี้ อยู่ที่เกือบ 1  ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมต่อวัน  เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่  500 กิโลกรัมต่อวัน  นอกจากนี้   ปลาที่เราอนุบาลและปล่อยไป  เราไม่ได้ปล่อยลงเขื่อนอย่างเดียว แต่กระจายให้คนในหมู่บ้านที่มีบ่อปลาเพื่อเป็นแหล่งอาหารของครัวเรือนและช่วยสร้างรายได้อีกด้วย

ด้าน “ถาวร จิระโสภณรักษ์” รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า  กรมประมงมีนโยบายสร้างผลผลิตในแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนและสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ คือ ที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นก็มีปลาอยู่ แต่ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ ที่่เห็นความสำคัญของการใช้แหล่งน้ำให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด การที่ภาคเอกชนเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ  โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมประมง ซีพีเอฟ และชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเองให้กับชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก นำไปสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในท้องถิ่นอีกดี

ความอุดมสมบูรณ์ทรัพยากรธรรมชาติของลุ่มน้ำป่าสัก เป็นต้นทุนที่สำคัญของ “ความมั่นคงทางอาหาร” ที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนในการดูแลลุ่มน้ำที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ช่วยให้ชุมชนมีแหล่งอาหารการกินที่ปลอดภัยอย่างเพียงพอ และช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคง นำไปสู่การอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและพึ่งพาตนเองของชุมชนอย่างยั่งยืน