ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน’ ฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร คืนอาชีพประมงพื้นบ้าน

“ตั้งแต่มีป่าชายเลนคืนกลับมา ปู ปลาที่เคยหายไปก็กลับมาอาศัยที่ป่าชายเลนแถบบางหญ้าแพรกเพิ่มขึ้น เช่น ปลาสลิดหิน ปลากะรัง ปู หอยมีเยอะขึ้น ชุมชนได้มีแหล่งอาหารมากขึ้น  ช่วยฟื้นอาชีพประมงพื้นบ้านที่สูญหายไปจากชุมชนกลับมา เราสามารถจับได้ทุกวัน รายได้ก็เพิ่มขึ้น ครอบครัวอยู่อย่างมีความสุข”

พื้นที่แถบนี้ เป็นอ่าวตัวก. คลื่นลมแรง มีปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะมากกว่าที่อื่นๆ อยู่แล้ว อีกทั้งมีปัญหาขยะจากบ้านเรือนที่ไหลมาจากแม่น้ำมารวมกัน ทำให้ป่าชายเลนชุมชน ต.บางหญ้าแพรกค่อยๆ หายไป ยิ่งพอเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554  ต้นไม้ใหญ่แถบชายเลนแถบนี้จึงยืนต้นตายเกือบทั้งหมด สัตว์ทะเลที่เคยอยู่อาศัยก็หายไปจากชายฝั่ง ชาวประมงพื้นบ้านอย่างผมได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะออกหาปลาชายฝั่งไม่ได้ หลายคนต้องไปทำงานกับประมงใหญ่ ต้องออกทะเลไปลึก หรือไม่ก็หันไปทำอาชีพรับจ้างอื่นแทน” เฉลิมศักดิ์ ชินชำนาญ ชาวประมงพื้นบ้าน ในชุมชนต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ย้อนภาพเมื่อครั้งพื้นที่ ‘ป่าชายเลน’ แห่งนี้เว้าแหว่งไปนับร้อยไร่

เฉลิมศักดิ์ เล่าว่า ตนทำประมงมา 20-30 ปี เมื่อออกทะเลไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนไปทำงานรับจ้างหารายได้ทางอื่นมาเลี้ยงดูครอบครัว แต่หลังจากโครงการ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ของซีพีเอฟเข้ามาชักชวนชาวบ้านปลูกป่าและฟื้นฟูป่าชายเลน ตั้งแต่ปี 2557  ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นป่าชายเลนในต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร เริ่มกลับมา จนตอนนี้ปี 2563 ต้นแสมที่เคยปลูกไว้เติบโตขึ้นมาก แหลมที่เคยแหว่งก็ถูกเติมเต็มด้วยพื้นที่ป่าชายเลน และน้ำเริ่มมีคุณภาพดีขึ้น กลายเป็นแหล่งอนุบาลและเป็นแหล่งหลบภัยให้กับสัตว์น้ำได้อย่างดี 

ตั้งแต่มีป่าชายเลนกลับมา ปลาที่เคยมีหรือที่สูญหายไปนาน ก็กลับมาอาศัยและหลบภัยในชายฝั่ง เช่น ปลาสลิดหิน ปลากะรัง หอยพิม รวมถึงสัตว์น้ำประจำถิ่นอื่นๆ ก็มีมากขึ้น เช่น หอยแครง หอยลาย ปลากระบอก ปูแสม ช่วยฟื้นอาชีพประมงพื้นบ้านที่หายไปกลับมา จากแต่เดิมต้องออกไปลากอวนไกลๆ เพราะปู ปลา หอยมีเยอะขึ้น เราสามารถจับได้ทุกวัน รายได้ก็เพิ่มขึ้น สำหรับผมตอนนี้ หนึ่งเดือนจะหยุดออกทะเล 7 วัน รายได้ขึ้นอยู่กับ ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้และสภาพอากาศในแต่ละวัน แต่โดยเฉลี่ยจะได้ประมาณ 700 บาท ซึ่งนับว่ารายได้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก” 

ขณะที่ “พลายงาม ชาวไร่ ” หรือน้าแขก อาชีพรับจ้างงมหอย พื้นเพเป็นคน ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร เล่าว่า สมัยก่อนไม่มีป่าชายเลน ต้นไม้ยังมีน้อย เมื่อมีคลื่นลมแรงซัดทำให้ดินบริเวณชายฝั่งถูกเซาะพังเข้ามาเรื่อยๆ สัตว์น้ำไม่มีเกราะกำบัง แต่ตอนนี้ป่าชายเลนงอกเพิ่มขึ้น ช่วยป้องกันคลื่นและลมที่ซัดเข้าฝั่ง และป้องกันการเซาะพังของชายฝั่ง นอกจากนี้ ปริมาณต้นไม้ในพื้นที่ที่มีมากขึ้น ทำให้สัตว์น้ำเข้ามาอาศัยในพื้นที่และตามรากต้นแสม เช่น  ปลากระบอก กุ้งฝอย แมงดาจาน  ปลาตีน หอยชนิดต่างๆ ทั้งหอยแครง  หอยเสียบ หอยกระปุก ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพทำประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น 

น้าว่าที่สัตว์น้ำเยอะขึ้น ชาวประมงพื้นบ้านอย่างเรารู้ดีว่ามาจากพื้นที่ป่าชายเลนเยอะขึ้น เพราะสัตว์น้ำพวกนี้มันกินใบต้นแสมแล้วก็อาศัยอยู่ตามต้นแสมด้วย น้าคิดว่าถ้าหากปลูกป่าเพิ่มขึ้นอีกก็ดีนะ ช่วยคืนความอุดมสมบูรณ์ ช่วยให้แหล่งอาหารของชุมชนกลับคืนมา และเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้านได้ต่อไปอีกนานๆ” น้าแขก กล่าว

ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนบนพื้นที่บางหญ้าแพรก เป็นดอกผลของการดำเนินโครงการ ”ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ และชุมชน ในลักษณะ  3 ประสาน  คือ   ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน  ที่มีเป้าหมายร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน  เนื่องจากบางหญ้าแพรกมีความท้าทายต่อการปลูกป่าด้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ เพราะเป็นพื้นที่ชายฝั่งที่มีคลื่นลมแรง มีการกัดเซาะสูงและมีปริมาณขยะจำนวนมาก จากความพยายามเรียนรู้และนำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้ปลูก การดูแล รวมถึงกระบวนการจัดการป่าชายเลนอย่างมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น  ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกมีอัตรารอดเพิ่มขึ้นและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกลับมาเป็นผืนป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์เนื้อที่รวม 604 ไร่  ช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางบกและทางทะเล   

วันนี้ … ผืนป่าชายเลนที่ ต.บางหญ้าแพรก  จ.สมุทรสาคร เป็นผืนป่าที่มีต้นแสมเขียวเต็มพื้นที่ ผิดตาไปจาก 5 ปีที่แล้ว มีทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น คืนพื้นที่ทำมาหากิน ช่วยชุบชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน และเป็นที่พึ่งพาแหล่งอาหารของคนในชุมชน ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชาวชุมชนบางหญ้าแพรก และสามารถส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ให้แก่ลูกหลานของบางหญ้าแพรกได้อย่างยั่งยืน