ชุมชนร่วมอนุรักษ์ ป่าเขาพระยาเดินธง ซีพีเอฟสร้างเครือข่ายดูแลผืนป่ายั่งยืน

“ชาวบ้านตื่นตัวมากขึ้นในการอนุรักษ์ป่า ช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลป่ามากขึ้น และตระหนักดีว่าป่าที่สมบูรณ์จะเป็นแหล่งอาหาร และที่พึ่งขกับลูกหลานของชุมชนในอนาคต”

ก่อนที่น้ำฝนของหน้าฝนปีนี้จะตกลงมา ชาวบ้านจาก 4 ชุมชนโดยรอบเขาพระยาเดินธง ประกอบด้วยชุมชนจากบ้านห้วยบง ต.พัฒนานิคม และต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี มาร่วมกันซ่อมแซมฝายชะลอน้ำในพื้นที่อนุรักษ์ของเขาพระยาเดินธง เพื่อเตรียมให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝนมาช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดินและผืนป่า และช่วยเป็นเขื่อนดักเก็บตะกอนที่ไหลลงมาให้เป็นอาหารของต้นไม้ได้ผลิใบเขียวตลอดหน้าฝน 

“ร้อยละ 80 ของชุมชนที่อยู่รอบผืนป่าเขาพระยาเดินธง คือเกษตรกร เราต้องพึ่งพาน้ำฝน ซึ่งการมีป่าไม้ที่สมบูรณ์จะช่วยกักเก็บน้ำฝน พอเราเห็นป่าชุ่มชื้น ก็มีความชุ่มอกชุ่มใจเกิดขึ้น ในฐานะของคนที่อยู่ในพื้นที่ เห็นการเปลี่ยนแปลงไปมาก ผมเข้ามาปลูกป่าตั้งแต่ปีแรกๆ จนตอนนี้เกือบจะ 5 ปีแล้ว พื้นที่ตรงนี้แปลกตาไป นอกจากความสมบูรณ์ของพื้นที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดคือ การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน

“ก่อนหน้านี้ชาวบ้านจะมาหาของป่า หาหน่อไม้ เก็บผัก อาศัยเป็นแหล่งอาหาร ตัดฟืนโดยไม่ได้คำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากร พื้นที่ป่าตรงนี้จึงเสื่อมโทรม แต่เมื่อมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกันฟื้นฟู กระตุ้นให้ชุมชนรู้จักรักธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมป่าไม้ ที่ร่วมกับภาคเอกชน อย่าง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ที่เข้ามาสร้างความเข้าใจ พร้อมกับดำเนิน โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ตั้งแต่ปี 2559 ชาวบ้านก็เริ่มตื่นตัวมากขึ้นในการอนุรักษ์ป่า เข้ามาช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลป่ามากขึ้น และเข้าใจว่าป่าที่สมบูรณ์จะเป็นแหล่งอาหารชุมชนให้กับลูกหลานของชาวชุมชนในอนาคต” เอกชัย สลุงใหญ่ ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในชุมชน 

ขณะที่ ชาตรี  รักษาแผน ผู้อำนวยการส่วนภาคีเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานร่วมกับชุมชน กล่าวว่า โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบันนี้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือในครั้งนี้ชุมชนซึ่งเป็นเครือข่ายของโครงการที่ซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุน เข้ามาช่วยฟื้นฟูสภาพป่าด้วยการร่วมแรงร่วมใจมาซ่อมแซมฝายด้วยความเต็มใจ เห็นรอยยิ้ม มีความสุขที่ได้มาปรับปรุงดูแลสภาพภูมิประเทศ และฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่จะไหลลงสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 

“เราคลุกคลีกับชาวบ้านเห็นได้ชัดว่า ชาวบ้านเปลี่ยนพฤติกรรม จากแต่เดิมที่เข้าป่า ล่าสัตว์ หากินกับป่า แต่ปัจจุบันเขาเริ่มตระหนักว่าหากทำแบบนี้บ่อยๆ ทรัพยากรในป่าค่อยๆเสื่อมโทรมลง เห็ดที่เคยขึ้น สัตว์ป่าที่เคยหาได้ นับวันเริ่มหาได้น้อยลง นับตั้งแต่โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เข้ามาดำเนินฟื้นฟูป่า เห็นว่าป่าเขียว น้ำใส  และโครงการฯ ได้เข้ามาเป็นการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ชาวบ้านค่อยๆ ซึมซับ จิตสำนึกเกิด เขาเห็นแล้วว่าทำแล้วป่ามันดีขึ้น ผืนป่าแห่งนี้อำนวยประโยชน์ในทุกด้าน ทั้งในด้านที่นิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อม แหล่งอาหาร เป็นแหล่งเรียนรู้ของลูกหลานเราในอนาคต พวกเราต้องช่วยกันดูแลผืนป่าแห่งนี้ เพื่อให้ ชุมชน และคนรุ่นต่อไปได้รับผลประโยชน์”

เมื่อวันหนึ่งที่หน่วยงานภาคเอกชนหรือภาครัฐจะต้องลดบทบาทของตัวเอง ไม่ได้เข้ามาดูแลเขามากนัก พื้นที่ตรงนี้ก็จะเป็นป่าชุมชนซึ่ง ชุมชนก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดกติกา กฎหมายชุมชนในการเข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง แต่ระหว่างที่ชาวชุมชนยังไม่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ป่าได้ โครงการฯ ก็มีโครงการส่งเสริมอาชีพ ให้คนในชุมชนปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคเองและเก็บเมล็ดพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกและแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านชุมชนใกล้เคียง และอนุบาลปลาลงแหล่งน้ำสาธารณะ  

ด้าน “ถนอมพงษ์ สังข์ธูป” หัวหน้าโครงการฟื้นฟูป่าเขาพระยาเดินธง กล่าวว่า การซ่อมแซมฝาย เป็น กิจกรรมที่ชาวชุมชนในพื้นที่รอบเขาพระยาเดินธงสามารถเข้ามามีส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ผืนป่า ในพื้นที่โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ได้สร้างฝายชะลอน้ำทั้งหมด 45 แห่ง และมีการซ่อมแซมฝายก่อนฤดูฝนอย่างต่อเนื่องทุกปีมาตั้งแต่ปี 2561 และในครั้งนี้ ชาวบ้านมาช่วยกันซ่อมแซมฝาย 6 แห่ง โดยชาวบ้านช่วยกันเก็บหินในพื้นที่มาเรียงเติมด้านหน้าและด้านหลังของฝายให้แน่นเพื่อให้แข็งแรงและไม่พังทลายง่าย ใช้ปูนยาแนว

ชะลอการไหลของน้ำฝนให้ได้นานที่สุด เพื่อให้เกิดการทับถมของตะกอน พืชโดยรอบก็สามารถเติบโตได้ดี และยังเป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์ต่างๆ ในพื้นที่ด้วย

 โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” เกิดจากความร่วมมือ 3 ประสาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน โดยกรมป่าไม้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และชุมชนรอบพื้นที่ ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟู และเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ ซึ่งในพื้นที่เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี ได้เข้าสู่ปีที่ 5 ของโครงการระยะที่ 1 (ปี 2559-2563) คือช่วยฟื้นฟูและพลิกผืนป่าแห้งแล้งเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์  สร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ บรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งมีการติดตามดูแลและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ จากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้  39,690 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ดำเนินโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักปลอดสาร (ปี 2562 -2566) มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน