วิบากกรรมเจ้าจำปี…ตำบลกระสุนตก “โซเชียล-ฝ่ายค้าน” รุมถล่ม “รักคุณเท่าฟ้า” แต่ใครๆ ก็ไม่รักเรา

ยังคงต้องลุ้นและวัดใจ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กันต่ออีกเฮือกว่าจะรับพิจารณาและอนุมัติแผนฟื้นฟู “การบินไทย” เพื่อให้ธุรกิจรอดและยังเดินต่อไปได้อย่างไร

และที่สุดแล้วจะเลือกแนวทางรับค้ำประกันเงินกู้รอบใหม่จำนวน 50,000 ล้านบาท ที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นำเสนอ

หรือว่าจะเลือกประกาศให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายรูปแบบเดียวกันกับสายการบินขนาดใหญ่อื่น

ไม่ว่าจะเป็นยูไนเต็ดแอร์ไลน์, เจแปนแอร์ไลน์ ฯลฯ

 

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวการนำเสนอแผนฟื้นฟู “การบินไทย” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อต่างๆ อย่างหนัก โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย

มีทั้งนักการเมือง (ฝ่ายค้าน) นักวิชาการ นักธุรกิจ รวมถึงบรรดาอดีตผู้บริหารหลายคนที่ต่างออกมาตีแผ่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งวิเคราะห์และนำเสนอทางรอดในทุกแง่มุม

โดยเฉพาะประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าไปช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในระยะสั้นให้บริษัทการบินไทยไปจนถึงสิ้นปี 2563

แผนผ่าตัดโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ตามแผนฟื้นฟูที่เตรียมแยกการบริหารออกเป็น 4-5 บิสซิเนสยูนิตอย่างชัดเจน รวมถึงการกำกับดูแลการบินไทยและคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยให้อยู่ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจประเภท 3 แทน จากเดิมที่อยู่ในประเภท 2 ซึ่งจะยกเว้นกฎระเบียบบางเรื่องเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร โดยเฉพาะการคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาบริหาร

ทุกเรื่องทุกประเด็นมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะใส่เงินลงไปช่วย

โดยส่วนใหญ่เชียร์ให้ปล่อยล้มละลายไปก่อนแล้วค่อยกู้ซากกลับคืนมาใหม่

เพราะประเมินแล้วว่าภาระหนี้สินที่มีอยู่นั้นหนักเกินที่จะเยียวยาไหวแล้ว

 

ที่สำคัญ หากต้องการให้ “การบินไทย” เดินต่อไปได้ รัฐบาลต้องใส่เงินลงไปช่วยถึง 1.3 แสนล้านบาท ไม่ใช่แค่ 50,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลบิ๊กตู่จะค้ำประกันเงินกู้ให้เพื่อให้การบินไทยนำไปหมุนเวียนและสร้างสภาพคล่องระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อนำมาปรับปรุงงบการเงินและหนุนให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ในระยะยาวอีกจำนวน 80,000 ล้านบาท

และมองว่าหากการบินไทยเดินต่อไปได้ คนที่ได้ประโยชน์คือผู้ถือหุ้น แต่หากการบินไทยเจ๊งไม่สามารถเดินต่อไป รัฐบาลต้องชดใช้เงินจำนวนนั้นให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งเงินจำนวนนี้ล้วนมาจากภาษีของประชาชน

แต่บางส่วนก็เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วยการใส่เงินเข้ามาช่วยให้เกิดสภาพคล่อง

แต่ต้องแลกกับการยอมผ่าตัดโครงสร้างครั้งใหญ่ พร้อมทั้งลดขนาดองค์กรลง เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อได้ในฐานะสายการบินแห่งชาติ

เพราะประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีสายการบินแห่งชาติไว้สนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 20% ของ GDP

เรียกว่าทุกสื่อโดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียและข้อวิพากษ์วิจารณ์จากทางการเมือง (ฝ่ายค้าน) ที่ต่างออกมาสะท้อนแนวคิดมุมมอง

และถล่มกันอย่างหนักตามฐานข้อมูลที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายมีอยู่ในมือ

การบินไทยจึงกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” อย่างจัง

สําหรับแผนฟื้นฟูธุรกิจของบริษัทการบินไทยปี 2563-2567 ที่เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานพิจารณานั้นระบุว่า จะทำการจัดโครงสร้างให้สอดรับกับกระบวนการทำงานใหม่ที่กระชับ มีสายการบังคับบัญชาสั้นไม่ซับซ้อน และ synergy กันอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

อาทิ ควบรวมหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน เพิ่มกระบวนการทำงานที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ จัดโครงสร้างการบริหารใหม่ด้วยการแบ่งเป็นบิสซิเนสยูนิต โดยมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นโฮลดิ้ง คอมปะนี เพื่อให้แต่ละหน่วยธุรกิจหารายได้กันอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ฝ่ายครัวการบิน (Catering), บริษัท ฝ่ายช่าง, บริษัท บริการภาคพื้น (Cround Service), บริษัทฝ่ายคลังสินค้า (GARGO), บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ และบริษัท ไทยอินเตอร์ (Thai Inter)

รวมถึงการปรับลดจำนวนบุคลากรให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตและทำให้การบริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างเงินเดือน ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมการบินทั่วไป และสอดรับกับ productivity และ performance

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงแผนการสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลงประมาณ 3% ให้กับกลุ่มวายุภักษ์ จากปัจจุบันที่อยู่ในสัดส่วน 51.03% หรือเหลือ 48% ซึ่งจะมีผลทำให้การบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป และไม่ต้องขึ้นตรงกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

ซึ่งจะมีข้อดีคือจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ ในแผนดังกล่าวยังมีเป้าหมายเพื่อลดขนาดองค์กร (down size) ให้เล็กลง ทั้งด้านบุคลากรและจำนวนฝูงบิน โดยปรับจำนวนพนักงานให้สอดรับกับฝูงบินที่ลดลง และเปรียบเทียบ productivity กับสายการบินชั้นนำอื่นๆ

 

ขณะที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยได้ยื่นหนังสือและออกมาแสดงจุดยืนกรณีแผนฟื้นฟูนี้ว่า สหภาพเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟู เพราะเป็นทางรอดทางเดียวของการบินไทย แต่ถ้าจะให้การฟื้นฟูครั้งนี้เกิดประสิทธิภาพได้จริง สหภาพขอให้มีสหภาพหรือพนักงานที่สหภาพเห็นว่ามีความสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการในทุกขั้นตอนด้วย พร้อมทั้งให้ความเชื่อมั่นกับนายกรัฐมนตรีและประชาชนว่าแผนฟื้นฟูครั้งนี้จะสามารถทำได้จริง

พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า ในอดีตมีการฟื้นฟูแล้ว 3 ครั้ง แต่พนักงานไม่เคยได้มีส่วนร่วมและไม่มีโอกาสได้รับรู้แต่อย่างใด ครั้งนี้จึงอยากขอโอกาสมีส่วนร่วมด้วย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยตรวจสอบการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟู เนื่องจากแผนที่ผ่านมามีการกู้เงินจริงแต่ไม่ได้นำมาทำตามแผนฟื้นฟูอย่างแท้จริง

ไม่เพียงเท่านี้ สหภาพยังขอให้มีการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ รวมถึงสวัสดิการของพนักงานทุกคนให้มีสภาพจ้างงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย

ที่สำคัญ แม้ว่าสหภาพต้องรักษาบริษัทการบินไทยไว้ ไม่อยากให้องค์กรนี้ล้มหายตายจาก แต่ต้องมีเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลง ต้องดีขึ้น ต้องจริงจังด้วย และเป็นจุดเริ่มต้นใหม่

อายุหกสิบแล้ว ถึงเวลายกเครื่องใหญ่ ผ่าตัดใหญ่เสียที ถ้าทุ่มเงินลงไปเฉยๆ ก็จะยืดได้แค่ 4-5 เดือนก็น่าจะหมด เป็นการ Throw good money after bad

หรือที่คนโบราณเค้าว่า “ตำน้ำพริกโปรยทิ้งบนท้องฟ้า” เป็นแน่