เน็ตฟรีประชาชน / ออมสินปล่อยกู้ช่วยโควิด-19 / พักหนี้บ้านสูงสุด 1 ปี / ปิดด่านหมูส่งออกยาก

แฟ้มข่าว

กสทช.หนุนให้เน็ตฟรีประชาชน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ตามที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 เห็นชอบ 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (โมบาย บรอดแบนด์) เพิ่ม 10 กิกะไบต์ต่อคนต่อเดือน ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คน จะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ 2.สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (ฟิกส์ บรอดแบนด์) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุ (คาปาซิตี้) เท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ โดยกรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการการรับ-ส่งข้อมูล ไฟเบอร์ทูดิเอ็ก ให้ได้ระดับความเร็ว (ดาวน์โหลด) 100 เมกะบิตต่อวินาที ซึ่งมาตรการดังกล่าวใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. เพื่อช่วยเหลือประชาชนเฉพาะเดือนแรก จำนวน 30 ล้านเลขหมาย ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน 2-9 เมษายน 2563 และให้บริการ 10 เมษายน 2563

ออมสินปล่อยกู้ช่วยโควิด-19

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระยะที่ 2 ธนาคารออมสินจึงเปิดให้บริการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบ วงเงินกู้สูงสุด 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.10% ต่อเดือน หรือ 10 บาทต่อเดือน ผ่อนชำระคืนนานถึง 2 ปี โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน และยังไม่ต้องชำระเงินกู้ช่วง 6 งวดแรก ผู้กู้ต้องมีคุณสมบัติอายุ 20 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 30,000 บาท อาทิ พ่อค้า แม่ค้า คนขับรถโดยสารแท็กซี่-สามล้อ มัคคุเทศก์ มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน สามารถติดต่อได้ นอกจากนี้ มีสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงินกู้สูงสุด 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ให้ผ่อนชำระคืนนานถึง 3 ปี โดยการค้ำประกัน สามารถใช้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ คุณสมบัติต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย เป็นผู้มีรายได้ประจำแต่รายได้ลดลงหรือขาดรายได้ มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน กำหนดเริ่มลงทะเบียนแจ้งความจำนงใช้บริการและกรอกข้อมูลใบสมัครออนไลน์ ได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปติดต่อที่สาขา

ธอส.พักหนี้บ้านสูงสุด 1 ปี

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือเยียวยาลูกค้าประชาชน พร้อมบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธอส.จัดทำโครงการ ธอส.ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าของ ธอส.ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 พักชำระเงินต้น 3 เดือน และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท (ไม่จำกัดกรอบวงเงินสินเชื่อ) มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ในสถานะกฎหมาย สามารถลงทะเบียนได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 มาตรการที่ 2 พักชำระเงินต้น 1 ปี และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน (ไม่จำกัดกรอบวงเงินสินเชื่อ) เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่พักชำระเงินต้นแล้ว สามารถแจ้งความประสงค์ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระเพิ่มได้นานสูงสุดอีก 10 ปี ซึ่งการขยายเวลาจะทำให้เงินงวดรายเดือนของลูกค้าลดลงอีกด้วย สามารถลงทะเบียนได้ภายในวันที่ 30 เมษายน 2563 มาตรการที่ 3 พักชำระเงินต้น 6 เดือน พร้อมลดดอกเบี้ยเหลือ 3.90% ต่อปี และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน (กรอบวงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท) ซึ่งลูกค้าที่มีความประสงค์จะใช้มาตรการนี้ต้องนำส่งหลักฐานให้ธนาคารผ่านโมบาย แอพพลิเคชั่น GHB ALL ที่สะท้อนให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบให้รายได้ลดลง สามารถลงทะเบียนได้ภายในวันที่ 30 เมษายน 2563

ปิดด่านหมูส่งออกยาก

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากมาตรการเข้มงวดของไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดไทย เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเริ่มมีการปิดด่านชายแดนแล้ว ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกสุกรไทย ซึ่งปกติจะมีการส่งออก 2-3 พันตัวต่อวัน จะเริ่มส่งออกได้ลดลงและยากขึ้น จึงมีผลต่อราคาสุกรในประเทศลดลงแล้ว ขณะนี้สุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มกิโลกรัมละ 68-70 บาท ซึ่งราคานี้หมูเขียงราคาต้องไม่เกิน 150 บาทต่อกิโลกรัม ปัญหาหมูตึงตัวอย่างไข่ไก่ไม่เกิดขึ้นแน่เพราะเป็นเรื่องการป่วนราคาของพ่อค้าล้งที่รัฐเข้าไปดูไม่ถึง ส่วนราคาหน้าฟาร์มไข่ยังเท่าเดิม ขณะที่สุกรแม้หน้าร้อนปริมาณผลผลิตอาจลดลงบ้าง แต่เฉลี่ยยังผลิตเพื่อบริโภคในประเทศที่มีความต้องการ 4.6 หมื่นตัวต่อวันได้อยู่ ผู้เลี้ยงสุกรได้รับรองไว้กับกระทรวงพาณิชย์แล้วว่าจะไม่มีการขยับราคาช่วงที่ประชาชนอยู่บ้านเพิ่มขึ้นจากมาตรการสกัดการแพร่ของโควิด-19 ที่กังวลตอนนี้คือการปิดด่านชายแดนทำให้สุกรตกค้างสะสม และมีผลต่อราคาในอนาคต

เลื่อนออกรางวัล-งดขายหวย

นายพชร อนันตศิลป์ ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดสลาก) ว่า บอร์ดสลากพิจารณาเรื่องการออกรางวัล ของสลากงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 ตามข้อร้องเรียนของผู้ขายที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จึงมีมติให้เปลี่ยนแปลงการออกรางวัลของสลากงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 จากเดิมต้องออกรางวัลวันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 แทน โดยเวลาในการออกรางวัลยังดำเนินการตามเวลาเดิมคือเริ่มตั้งแต่เวลา 14.30-16.00 น. ณ ห้องออกรางวัลสลาก สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นอกจากนี้ บอร์ดมีมติให้หยุดจำหน่ายสลากงวดวันที่ 16 เมษายน 2563 และงวดวันที่ 2 พฤษภาคม 2563

ส่วนวันออกรางวัลที่เลื่อนไปเป็น 2 พฤษภาคม ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในห้วงเวลา ณ ขณะนั้นด้วย หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จะมีการพิจารณาและแจ้งให้ทราบต่อไป