พลังงานกับการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก ( PM 2.5 ) ตอนที่ 3 ตอนจบ

การปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเทียบเท่าระดับยูโร 5

กรมธุรกิจพลังงานได้ออกประกาศการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ในกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอลล์และน้ำมันดีเซล เป็นเทียบเท่าระดับยูโร 5 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 โดยได้ออกประกาศเมื่อวันที่17 ธันวาคม 2562 เป็นการออกประกาศล่วงหน้าเพื่อให้โรงกลั่นน้ำมันและผู้ค้าน้ำมันมีระยะเวลาเตรียมการในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถผลิตน้ำมันตรงมาตรฐานใหม่ได้ทันตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด อย่างก็ตามก็มีโรงกลั่นบางแห่งสามารถทยอยผลิตออกมาได้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช. ) ได้มีมติเมื่อ 1 มีนาคม 2559 เห็นชอบแผนขับเคลื่อนภารกิจพลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV จำนวน 1.2 ล้านคันภายในปี 2579 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 ( ปี 2559-2560 ) เตรียมความพร้อมการใช้รถ EV เน้นการนำร่องการใช้งานกลุ่มรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า
ระยะที่ 2 ( ปี 2561-2563 ) การขยายผลการดำเนินการกลุ่มรถโดยสาธารณะและเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนบุคคล
ระยะที่ 3 ( ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ) การขยายผลไปสู่การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล

กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการตามแผนข้างต้นมาเป็นลำดับดังนี้ (1) ในปี 2559 ได้ทำโครงการสนับสนุนการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ( Charging Station ) มีเป้าหมาย 100 สถานี ผลการดำเนินการสิ้นปี 2562 มีจำนวน 80 หัวจ่าย (2) ปี 2560 มีโครงการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กให้เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ( e-TukTuk ) ผลจากการดำเนินงานได้จำนวน 14 คัน (3) อัตราค่าบริการ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศอัตราค่าบริการ ToU โดยแบ่งอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็นช่วง Peak 9.00-22.00 น. อัตรา 4.10 บาท/ หน่วย และช่วง Off-Peak ตั้งแต่ 22.00-09.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ตลอดวัน อัตรา 2.60 บาท/หน่วย เพื่อส่งเสริมให้รถ EV ชาร์จแบตเตอรี่ในช่วงกลางคืนซึ่งมีไฟฟ้าเหลือใช้และเพื่อไม่ให้ Peak ในช่วงกลางวันเพิ่มขึ้น และ (4) การประกอบกิจการ กกพ. ได้จัดทำคู่มือการประกอบกิจการ ได้แก่ การขออนุญาตตั้งสถานที่อัดประจุ มาตรฐานความปลอดภัยและข้อกำหนดในการติดตั้งสถานีบริการ

การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต้องมีการบูรณาการจากหน่วยงานหลายแห่ง กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้ได้ตามเป้าหมาย อาทิ การส่งเสริมการใช้งานในส่วนของการให้บริการสาธารณะในพื้นที่นำร่อง การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมต่อการใช้งาน และมาตรการส่งเสริมการผลิตให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น กระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการจัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อบูรณาการมาตรการต่าง ๆ ข้างต้นเพื่อให้การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในส่วนของภาคพลังงาน ได้มีการกำหนดมาตรการทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว อย่างครบวงจรซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ตามแผน จะมีส่วนช่วยทยอยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้จากน้อยไปมาก ปัญหา PM 2.5 จะบรรเทาหรือหมดไปได้ต้องอาศัยการบูรณาการจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรฐานรถยนต์ที่สอดคล้องกับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลงยูโร 5 ประชาชนช่วยกันลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง การควบคุมการปล่อยมลพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด การวางผังเมือง การควบคุมก่อสร้าง เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสภาพภูมิอากาศซึ่งเราไม่สามารถกำหนดได้ หากบูรณาการกันอย่างจริงจังแล้ว คาดว่าปัญหาจะลดลงได้อย่างแน่นอน