พลังงานกับการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก ( PM 2.5 ) ตอนที่ 1

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร

ฝุ่น PM 2.5 หรือชื่อเต็มคือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron เป็นฝุ่นละออกขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 25 ไมครอน เล็กกว่าขนาดเส้นผมของมนุษย์ ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ การสูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกายจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอด กระแสเลือด แทรกซึมกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและโรคหลอดเลือดในสมอง แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 จะไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างเฉียบพลัน แต่ต้องอาศัยระยะเวลาสะสมนานนับสิบปีถึงจะแสดงผลออกมา อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 คือมันสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางของสารอื่นๆเข้าสู่ปอด ด้วยการให้สารเหล่านี้มาเครือบบนผิวของมัน เช่น สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก เป็นต้น

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 นี้ไม่ได้พึ่งเกิดหรือมีค่าเกินมาตรฐานเป็นครั้งแรก แต่มีปัญหาอยู่ และก็จางหายไปเป็นวัฏจักรมาหลายปีแล้ว ตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปัญหาเกิดมาหลายปีแล้ว แต่ในช่วงปลายปี 2561 ต่อเนื่องต้นปี 2562 กลายเป็นปัญหา เพราะเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว และอยู่นานกว่าปีที่ผ่านๆมา โดยปกติแล้วฝุ่น PM 2.5 จะเกิดขึ้นมากในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล โดยเฉพาะจากฤดูหนาวสู่ฤดูร้อน ซึ่งบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ปกคลุมเป็นระลอกๆ ประเทศไทยตอนเหนือมีอุณหภูมิลดลง มีอากาศหนาวเย็น แต่บางแห่งความกดอากาศสูงมีกำลังอ่อนลง จึงส่งผลให้มีลมสงบ ประกอบกับมีการผกผันของอุณหภูมิ ( Inversion )ในระดับล่าง ส่งผลให้ระดับเพดานการลอยตัว และการกระจายตัวของฝุ่นละอองอยู่ในระดับต่ำ การไหลเวียนและถ่ายเทของอากาศไม่ดี ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง หมอกและควัน ในบรรยากาศมีปริมาณสูงเพิ่มขึ้น
สาเหตุของ PM 2.5 มาจากไหน

ปัญหาของฝุ่น PM 2.5 มีสาเหตุหลักๆ 3 สาเหตุ คือ แหล่งกำเนิด สภาพภูมิอากาศ และสภาพพื้นที่
1) “แหล่งกำเนิด” ที่สำคัญ ได้แก่ (1) ไอเสียจากรถยนต์หรือจากการจราจร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดใหญ่ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 จากแหล่งกำเนิดทั้งหมด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร น่าจะเป็นสัดส่วนหลักก็ว่าได้ เพราะกรุงเทพมีรถมาก รถติด รถเคลื่อนตัวด้วยความเร็วต่ำ หรือหยุดนิ่งกับที่ ทำให้เกิดฝุ่นจำนวนมาก (2) อากาศพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้า ถึงแม้ว่าตามพรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะกำหนดให้โรงงาน / โรงไฟฟ้าต้องมีระบบบำบัดมลพิษก่อนปล่อยสู่บรรยากาศ ซึ่งทำให้องค์ประกอบที่จะทำให้เกิด PM 2.5 อย่างเช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซต์ ไฮโดรคาร์บอนที่เผาไม่สมบูรณ์และความร้อน เป็นต้น เกิดขึ้นได้น้อยตามกฎหมายก็ตาม แต่โรงงานนั้นก็มิได้ปฎิบัติตามกฎหมายจึงเกิดฝุ่น PM 2.5 ได้ (3) การเผาในพื้นที่โล่ง เช่น การเผาเศษวัตถุหรือเหลือใช้ภาคเกษตรเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การเผาป่า และการเผ่าขยะ เป็นต้น ก่อให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดน ปัจจัยนี้ทำให้เกิด PM 2.5 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30-40 และ (4) การเผาไหม้จากประชาชน ในกิจวัตรประจำวัน การหุงต้ม การสูบบุหรี่ การจุดธูปเทียน การปิ้งย่าง ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน

นอกจากปัจจัยการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่กล่าวมาแล้ว อีกสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 คือ 2) “สภาพภูมิอากาศ” ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้หากเป็นช่วงเวลามีลมสงบนิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน บรรดาสารพิษทั้งหลายจะถูกสะสมไว้ในชั้นบรรยากาศจำนวนมาก แต่เมื่อถึงฤดูร้อน ลมร้อนเริ่มพัดมา ฝุ่นเหล่านั้นจะถูกพัดลอยสูงขึ้น และค่อยๆจางหายไปในที่สุด ก่อนจะเกิดการสะสมใหม่เมื่อลมสงบอีกครั้ง เป็นวัฏจักรหมุนเวียน

ส่วนสาเหตุสุดท้าย ได้แก่ 3) “สภาพพื้นที่” เช่น กรุงเทพมหานครมีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นแอ่งไม่เอื้อต่อการเจือจางมลพิษ การวางผังเมือง การวางตัว การก่อสร้างที่ทำให้การระบายอากาศไม่ดี รวมถึงพื้นที่สีเขียวที่มีจำนวนน้อยของกรุงเทพฯ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหา PM 2.5 เช่นกัน

ฉบับหน้าจะว่ากันด้วยเรื่องมาตรการการบูรณาการแก้ไขปัญญา PM 2.5 ในภาคพลังงาน