ซีพีเอฟ…ปันน้ำจากฟาร์มช่วยเกษตรกรฝ่า”ภัยแล้ง”

สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรหลายจังหวัด  พื้นที่การเกษตรหลายแห่ง เสี่ยงขาดแคลนน้ำใช้ในการเพาะปลูก  ภาครัฐต้องประกาศให้การแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติ  ขณะที่เกษตรกรมีการปรับตัวและปรับแผนการเพาะปลูกพื

“โครงการปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน” เป็นโครงการที่ภาคเอกชนโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี  2547 จนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและชาวบ้านบริเวณรอบฟาร์มสุกรของบริษัท ด้วยการปันน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพและเป็นน้ำที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ให้เกษตรกรนำไปใช้ในการเกษตร ใช้รดไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง  หญ้าเนเปียร์ สวนลำไย แปลงพืชผัก

สวนครัว เป็นต้น          

โดยตลอดปี  2562  มีเกษตรกรทั่วประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้ประมาณ 200 ราย นำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากฟาร์มไปใช้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า  3,000 ไร่  รวมปริมาณน้ำที่ช่วยเหลือเกษตรกรประมาณ450,000  ลูกบาศก์เมตร ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ประมาณ 2 ล้านบาท ที่สำคัญ  คือ  โครงการดังกล่าวทำให้เกษตรกรบางส่วนเลิกใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เพราะน้ำปุ๋ยที่ทางฟาร์มส่งให้ใช้เป็นน้ำที่มีธาตุอาหารเหมาะสมต่อการเติบโตของพืช อาทิ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โปแตสเซียม นำมาสู่การผลิตอาหารที่ปลอดภัย ไม่มีสารเคมีตกค้าง

“มยุรี มาโง้ง” เกษตรกรในพื้นที่บ้านปากร่วม ต.สะพานหิน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ทำสวนเกษตร ปลูกมันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส ไผ่หวาน และพืชสวนครัว ใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรปราจีนบุรี 1  มามากกว่า  10 ปี   เล่าว่า ภัยแล้งปีนี้มาเร็วและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก เห็นได้จากระดับน้ำในบ่อที่ขุดไว้ในสวน  ปกติในแต่ละปีช่วงนี้ยังพอมีน้ำใช้ แต่ปีนี้น้ำใกล้จะแห้งบ่อ คาดว่าจะมีน้ำใช้ได้ไม่เกินเดือนมีนาคมนี้ จึงต้องปรับแผนการเพาะปลูก จากที่เคยปลูกมันสำปะหลัง 15 ไร่ ก็ต้องลดพื้นที่ปลูกลง สลับการใช้น้ำ เพื่อให้พืชที่ปลูกไว้ได้น้ำอย่างทั่วถึง

“ตั้งแต่ขอรับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกร ช่วยให้ใช้ปุ๋ยเคมีลดลง   ค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีก็ลดลงและยังช่วยลดต้นทุนค่าน้ำ  ตอนนี้แปลงผักที่ปลูกไว้จำหน่าย ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีเลย  เป็นผักปลอดภัย  ปราศจากสารเคมีตกค้าง” นางมยุรี กล่าว

ด้าน”ธนาศักดิ์ โกศรีรุ่งโรจน์” วัย  50 ปี เกษตรกรในพื้นที่่ตำบลตูมใหญ่   อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเช่าพื้นที่เพื่อปลูกหญ้าเนเปียร์ 100 ไร่ ใกล้ฟาร์มบุรีรัมย์ของซีพีเอฟ   โดยได้รับน้ำที่ผ่านการบำบัดไปใช้  16,000 ลูกบาศก์เมตรต่อรอบการปลูก  ได้รับน้ำปุ๋ยหลังตัดหญ้าปีละ 2-3 รอบ เล่าว่า  หลังรับปันน้ำจากฟาร์มมาใช้ ช่วยให้ผลผลิตหญ้าเนเปียร์เพิ่มขึ้นเท่าตัว  จากผลผลิตก่อนที่รับปันน้ำปุ๋ยอยู่ที่   5 ตัน / ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 10 ตัน / ไร่  และยังช่วยลดค่าใช้จ่าย

จากการใช้ปุ๋ยเคมี  โดยก่อนการนำน้ำผ่านการบำบัดมาใช้  พื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์  1 ไร่ ใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ  50 กิโลกรัม หลังจากที่นำน้ำผ่านการบำบัดจากทางฟาร์มมาใช้  สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมี  คือ พื้นที่ 1 ไร่ จะใช้ปุ๋ยเคมีเพียง 25 กิโลกรัม เท่านั้น  ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนค่าปุ๋ยได้ถึง 50 %

“ปีนี้แล้งสุดๆ เลยครับ  ฝนทิ้งช่วงนาน  ผมยังโชคดีได้รับความช่วยเหลือจากฟาร์มบุรีรัมย์ของซีพีเอฟปันน้ำมาให้ใช้  แต่ผมก็ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด  ต้องใช้ให้เป็น เพราะตอนนี้ใช้น้ำจากฟาร์มที่เดียว เลือกรดน้ำแปลงปลูกหญ้าเนเปียร์ ในแปลงที่จำเป็น เช่น เป็นแปลงที่กำลังจะตัดไปขาย ” เกษตรกรที่ได้รับปันน้ำจากฟาร์มบุรีรัมย์ของซีพีเอฟ เล่า    
 
สองพี่น้องเกษตรกรที่มีอาชีพปลูกอ้อยและข้าวโพด “อำนาจและอำนวย  จงศุภวิศาลกิจ”  เกษตรกรในพื้นที่ ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เล่าว่า สถานการณ์แล้งปีนี้ทำให้ต้องปรับลดพื้นที่ปลูกอ้อยลงจากที่เคยปลูก 30 ไร่  เหลือเพียง  10 ไร่ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอรดต้นอ้อยและข้าวโพดไม่ให้เหี่ยวแห้ง  เพราะตอนนี้บ่อบาดาลที่เจาะไว้ น้ำแห้งใกล้หมดบ่อ  อำนาจ และ อำนวย ก็เป็นเกษตรกรที่ขอรับปันน้้ำจากฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกติดกับฟาร์มสุกรอุดมสุข  จ.กาญจนบุรี  แต่เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีเกษตรกรมากกว่า  10 รายที่ขอรับปันน้ำปุ๋ยจากฟาร์ม ทำให้ต้องมีการจัดสรรน้ำให้เกษตรกรแต่ละรายอย่างทั่วถึง  โดยทางฟาร์มจะปล่อยน้ำสลับให้เกษตรกรคนละวัน เพื่อเข้าสู่แปลงเกษตรและบ่อพักน้ำของเกษตรกร  ช่วยลดต้นทุนค่าน้ำและต้นทุนค่าปุ๋ยให้แก่เกษตรกรได้ด้วย

“ภัยแล้ง” วาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา “ซีพีเอฟ” ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มุั่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ ดำเนินโครงการ “ปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน” อย่างต่อเนื่อง เคียงข้างเกษตรกรข้ามพ้นวิกฤติภัยแล้งในครั้งนี้  ./