ตลาดทัวร์กลุ่ม ส.ว.(สูงวัย)-คนพิการ ร่างกายย่อมไร้อุปสรรค เมื่อรักจะท่องเที่ยว

การเขียนแผนขายท่องเที่ยว ก่อนอื่นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Segment) ว่าจะเจาะตลาดกลุ่มใด เช่น คนทำงานวัยหนุ่มสาว พวกนิยมเล่นกอล์ฟ เที่ยวเชิงสุขภาพ หรือเที่ยวเป็นบำเหน็จรางวัล (Incentive)

การส่งเสริมท่องเที่ยวเคยคิดจะเจาะตลาดต่างประเทศกลุ่มเตียงใกล้หัก ให้มาเที่ยวเมืองไทย กลับไปจะได้นอนเตียงเดียวกันเช่นวันที่ผ่านมา

ใครแอบขำเรื่องนี้อย่าเพิ่งหัวเราะ เพราะถ้ายุทธศาสตร์นี้สำเร็จ ประเทศทั่วโลกคงจะสแกนไปขายตามไทยแลนด์โมเดลนี้แน่นอน!

ปี 2561 ผุดไอเดียใหม่ขึ้นมาอีก ครานี้จะเจาะตลาดท่องเที่ยวสไตล์ LGBT โดย L หมายถึงหญิงรักหญิง G ชายนิยมไม้ป่าเดียวกัน B พวกเสือไบ หญิงก็ได้ชายก็ดี และ T เป็นคนมีเพศสภาพชาย แต่ไปๆ มาๆ ตุ้งติ้งเหมือนหญิง บางรายเพศสภาพหญิง สุดท้ายกลายเป็นแมน

ช่างสอดรับกับนโยบายรัฐบาล คสช.ที่กำลังคิดเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ขอจดทะเบียนสมรสกับคนเพศเดียวกันได้!

 

ระหว่างที่สองไอเดียภาคพิสดารเพื่อขายท่องเที่ยว มีผู้สันทัดกรณีด้านตลาดท่องเที่ยวได้แสดงทัศนะเป็นทางเลือกกับการคิดหากลุ่มเป้าหมายเพื่อหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้สูง หากตั้งใจที่จะเปิดตลาดอย่างจริงจัง ได้แก่กลุ่ม ส.ว.สูงวัย ที่นิยมใช้ชีวิตหลังเกษียณเดินทางท่องเที่ยว ด้วยมีเวลา มีเงินออมพร้อมนำมาใช้ และต้องการพบปะคนวัยเดียวกัน

ส.ว.ยุโรปและอเมริกาหลายรุ่นมาแล้ว ชอบที่จะท่องไปกับเรือสำราญขนาดใหญ่ กลางคาบทะเลบอลติก สแกนดิเนเวีย อีกฟากทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยเวลานานเป็นเดือนต่อทริป

แล้วยังมีกลุ่มคนพิการที่เคยตกกรอบการส่งเสริมมานาน จะผูกใจช่วยอยู่บ้างก็เพียงการเคาะแคมเปญโฆษณาให้ในรูป Tourism for all ท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ตามกระแสการคิดสร้างความเสมอภาคระหว่างคนร่างกายปกติกับคนพิการ ให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทัดเทียมกัน

กิจกรรมที่จะจุดประกายออกมาสร้างสีสันเพื่อคนพิการ กลับว้าเหว่หงอยเหงา!

ทั้งที่พวกเขาล้วนมีหัวใจใฝ่หาประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวอยู่ทุกขณะ ที่ยังมีลมหายใจเหมือนคนปกติทั่วไป

 

มีเรื่องเก่าเล่าใหม่โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เคยแสดงบทบาททางตลาด ต่อคนสองกลุ่มนี้เท่าที่จับต้องได้ คือปี 2552 ได้จัดทำคู่มือแนะนำเส้นทางสถานที่ท่องเที่ยว 5 เส้นทาง ให้ไปเที่ยวภาคเหนือเชียงใหม่-เชียงราย, ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช-สงขลา, ภาคกลางชลบุรี-ระยอง, ตะวันตกกาญจนบุรี และอีสานที่นครราชสีมา-นครพนม เมื่อปี 2552

ล่าสุดปีนี้ที่ไม่ต่างปีนั้น คือได้ทำเอกสารแนะนำเส้นทางออกมาใหม่อีก 5 เส้นทาง ให้คุณปู่คุณย่ากับผู้พิการใช้เป็นคัมภีร์ท่องเที่ยวโดยปราศจากกิจกรรมใดๆ ให้น่าสนใจแบบไทยเท่!

ผู้สันทัดกรณีรายเดียวกันยังชวนดูจำนวนประชากรไทย หลังรัฐบาลรณรงค์ลดจำนวนลูกหลาน ปรากฏว่าสำเร็จอย่างน่าฉงน ตรงพอปี 2560 เรามีเด็กวัย 1-15 ปีจำนวนเท่ากับผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ทำให้ไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยไปอย่างน่าชื่นใจ

คงด้วยวิทยาการทางการแพทย์ไทยก้าวหน้าทันสมัยอีกทางหนึ่ง ถึงทำให้คนไทยอายุยืนเฉลี่ย 75 ปี แต่เด็กไทยที่ลดน้อยลงกลับเกิดช่องว่างกับสถานศึกษาที่ผุดเกิดราวดอกเห็ด ทว่า กำลังประสบปัญหาที่หาเด็กละอ่อนเข้าชั้นเรียนไม่ได้!

ผู้สันทัดกรณีชวนให้ดูประชากรโลก ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 7,500 ล้านคน เป็นผู้สูงวัย 929 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งโลก โดยเชื่อว่าถึงปี 2568 โลกจะแบกเพิ่มเป็น 1,200 ล้านคน และปี 2593 คุณปู่คุณย่ายุคนั้นจะพุ่งสูงถึง 2,000 ล้านคน

ไทยยังโชคดีที่ถึงเป็นสังคมคนสูงวัยแล้วก็ตาม ณ วันนี้ เรามีคนวัยนี้แค่ 10.22 ล้านคน

 

“โลกทศวรรษนี้มีผู้พิการทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด และโชคร้ายเกิดโรคภัยขึ้นภายหลัง กับประสบอุบัติเหตุต่างๆ นานา หรือพิการจากพิษสงคราม ภัยจลาจลในประเทศ ทั้งหมดมีทั้งพิการแขนขาตลอดจนอวัยวะบางส่วนของร่างกาย พิการด้านสายตาในการมองเห็น รวมถึงโสตประสาทด้านการรับฟัง และพูดจาโต้ตอบ” ผู้สันทัดกรณีกล่าว และว่า

บุคคลเหล่านี้มีทั่วโลก 650 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 10 ประชากรโลก จำนวนนี้ 470 ล้านคนอยู่ในวัยทำงาน ไทยมีผู้พิการที่ขอจดทะเบียนทำบัตรประจำตัวจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2.04 ล้านคน ประมาณร้อยละ 41 อยู่ในวัยทำงานมีรายได้เลี้ยงตนเอง

เมื่อรู้ข้อมูลพื้นฐานนี้แล้ว อยากกระซิบบอกใครต่อใครว่า จงอย่ามองข้ามศักยภาพคนสองกลุ่มนี้เด็ดขาด

เพราะพวกเขายังมีหัวใจที่พร้อมกับการได้ท่องเที่ยว เพียงแต่ช่วยออกแบบ สร้างเสริมสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างที่เรียกกันว่า “อารยสถาปัตย์” หรือ Universal Design ให้ เช่น หมุดปักบนทางเท้านำทางให้คนพิการทางสายตา การใช้อักษรเบลล์บริเวณลิฟต์และห้องพัก การสร้างทางลาดขึ้นลงอาคาร อัตราส่วน 1 : 12 คือความสูง 1 เมตร ทางลาดจะต้องยาว 12 เมตร เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้วีลแชร์

ททท.ระบุว่า เมื่อปี 2550 มีนักท่องเที่ยว ส.ว.ทั่วโลกมาเที่ยวไทย 2.25 ล้านคน เป็นผู้ดีอังกฤษมากสุด รองลงมาเป็นเยอรมัน สวีเดน และฝรั่งเศส

และนี่คือเรื่องจริงอีกมุมหนึ่ง…ที่คนพิการทั่วโลกได้โยงใยสู่กลุ่มสมาชิกทั้งโลก ด้วยการเปิดช่องทางการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยมีการนำเสนอข่าวสารเรื่องราวถึงประเทศที่มีความพร้อมให้เลือกเดินทางไปท่องเที่ยว ไทยเราน่าภูมิใจติดอันดับต้นๆ ในประเทศที่น่าไปเที่ยวกับเขาด้วย ทั้งๆ ที่ขาดการส่งเสริมเป็นรูปธรรม

 

เมื่อปี 2552 ประธานบริษัทผู้ให้คำแนะนำคนพิการญี่ปุ่น พร้อมผู้บริหารบริษัทนำเที่ยวยักษ์ใหญ่ JTB สมาชิกสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยว (JATA) และนักเขียนเรื่องท่องเที่ยวเพื่อคนพิการญี่ปุ่น ได้มาสำรวจและทดสอบสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการที่เมืองพัทยากับภูเก็ต

ผลการสำรวจครั้งนั้นพวกเขายอมรับว่า ไทยพัฒนาด้านนี้เร็วมากและติดอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น แซงหน้าจีน ให้ความเห็นด้วยว่าเกาะเฮที่ภูเก็ต คือแหล่งที่คนพิการวีลแชร์สามารถนั่งเรือไปลงเล่นน้ำ และดำน้ำด้วยอุปกรณ์เสริมพิเศษได้อย่างปลอดภัยเหมือนคนปกติ

ที่พัทยา โรงแรมส่วนใหญ่สร้างทางลาดรับวีลแชร์ และอักษรเบลล์รับผู้พิการสายตา โดยโรงแรมเอ-วัน พัทยา บีช รีสอร์ท ได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมหนึ่งเดียวในโลก ที่มีทางลาดให้วีลแชร์ใช้หนีไฟจากชั้น 8 ลงมาถึงชั้นล่างสุด

สมชัย รัตนโอภาส ประธานบริหารโรงแรมเอ-วันฯ เปิดเผยว่า “การออกแบบสร้างอาคารทั้งหมด เรามุ่งเน้นให้บริการคนทั้งมวล ด้วยห้องพักบนชั้น 8 มีอยู่ 52 ห้องที่ถูกสร้างเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ คืออุปกรณ์เครื่องใช้ทุกชนิดถูกออกแบบตกแต่งให้ผู้ใช้วีลแชร์สามารถช่วยเหลือตนเองได้โดยไม่รบกวนใคร ตั้งแต่ระดับติดตั้งประตูลูกบิด ตู้เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน ภาชนะต่างๆ ในห้องน้ำ และสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน”

สมชัยบอกอีกว่า “ทุกปีพนักงานทุกคนจะหมุนเวียนกันไปอบรมการดูแลและบริการคนพิการจากศูนย์มหาไถ่ เมืองพัทยา เพื่อให้รู้ทักษะนำมาให้บริการ เช่น การวางอาหารบนโต๊ะแก่คนพิการสายตา ให้ใช้ระบบเข็มนาฬิกาคือเที่ยงตรงให้เป็นอาหารจานหลัก ถัดไปเป็นน้ำซุปหรือแกง แล้วก็ผัดผัก ผลไม้ ชากาแฟ และน้ำดื่ม ตามลำดับ”

บริบทอื่นที่กำลังเติบโตตามมา ได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยวคนพิการมีไกด์ผ่านการอบรมบริการ ส.ว.และคนพิการ ธุรกิจรถเช่าที่ปรับแต่งเป็นคาร์ลิฟต์สามารถนำวีลแชร์ยกขึ้นลงจากรถได้

นี่คือปัจจัยสำคัญที่พร้อมรับนักท่องเที่ยว 2 กลุ่ม ซึ่งมีทั้งเวลาและเงินออมเป็นต้นทุน อีกทั้งยังเป็นตลาดใหญ่อยู่ทั่วมุมโลก

แต่น่าเสียดาย…ตรงที่ขาดการเหลียวแลและเอาใจใส่ในวิถีทางการตลาด เช่น การจัดโต๊ะข้าวเหนียวมะม่วงใหญ่สุดในโลก ให้ทัวร์จีนกินเรือนหมื่นหมายดึงกลับมาเที่ยวไทย หลังโบกมือลาไปแล้วเกือบครึ่ง

สรุปทัวร์ ส.ว.กับคนพิการ ก็ต้องคลานตามแคมเปญ “ท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” ต่อไป!