เผยแพร่ |
---|
รายงานพิเศษ
6 ยักษ์ใหญ่ ชิงเค้กดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ
ได้ข้อสรุปกันไปแล้วสำหรับผลการประมูลพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) และพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Commercial Area) ภายในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ ปรากฏว่า กลุ่ม บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากร จากที่มีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด 5 รายประกอบด้วย 1.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 2. Central DFS Consortium (กิจการร่วมทำงานระหว่างบริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัลกับ DFS Venture จากสิงคโปร์) 3.ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ประเทศไทย) จากเกาหลีใต้ 4. บางกอก แอร์เวย์ โฮลดิ้ง และ 5.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด
ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ บนพื้นที่ประมาณ 1,400 ตารางเมตร นั้น กลุ่มเซ็นทรัลในนาม บริษัท Central DFS Consortium เป็นผู้ชนะการประมูลจากที่มีผู้สนใจ 7 ราย คือ 1.บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด 2.Central DFS Consortium 3.เดอะมอลล์กรุ๊ป 4. บริษัท ซีเล็ค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ จำกัด ( บริษัทร่วมทุนระหว่างไมเนอร์ ฟู้ด กับเอสเอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล : SSP International บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในสนามบินหลายประเทศ) 5.บางกอกแอร์เวย์โฮลดิ้ง 6.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และ 7.บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
กล่าวถึงผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายนำเสนอนั้น กองทัพเรือในฐานะเจ้าของสนามบินอู่ตะเภา จะเปิดเผยข้อมูลอีกครั้งหลังจากลงนามในสัญญาแล้ว โดยสัญญาดังกล่าวมีอายุ 10 ปี มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ภาคเอกชนจะต้องจ่ายผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 12% ของรายได้ก่อนหักภาษี หรือรายได้ขั้นต่ำที่เอกชนเสนอขึ้นมา
ขณะที่จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร หรือ Pick Up Counter ซึ่งเป็นบริการที่เอกชนหลายกลุ่มต้องการจะครอบครองปรากฏว่าสนามบินอู่ตะเภา “ผ่าทางตัน” โดยเป็นผู้ดำเนินการเองและเปิดให้บริการกับทุกร้านค้าปลอดภาษี
ผลการประมูลยกแรกที่สนามบินอู่ตะเภาจะเห็นได้ว่า แชมป์เก่าอย่างคิง เพาเวอร์สามารถรักษาพื้นที่สำคัญ พื้นที่ Duty Free ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และกลุ่มเซ็นทรัล ที่ได้รับแรงสนับสนุนจาก DFS สิงคโปร์ สามารถแบ่งเค้กพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปได้ ขณะที่กลุ่มล็อตเต้ เกาหลีใต้ คู่แค้นคนสำคัญของคิง เพาเวอร์ “รับประทานแห้ว”
สนามบินสุวรรณภูมิ
เปิดประมูลเทอร์มินอล 1
อย่างไรก็ตามในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิล่าสุดได้ข้อยุติแล้ว เมื่อคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จะเปิดประมูล Duty Free พื้นที่เชิงพาณิชย์ และ Pick Up Counter เฉพาะอาคารผู้โดยสาร 1 หรือเทอร์มินอล 1 (พื้นที่เดิมที่คิง เพาเวอร์ได้รับสัมปทาน) และพื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (อาคารแซทเทิลไลท์) พร้อมกับให้ชะลอการประมูล ดิวตี้ฟรีฯ ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ออกไปก่อน เพื่อสอบถามความชัดเจนเกี่ยวกับแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO ก่อน
ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายฝ่ายจับตามองและเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดว่า ทีโออาร์ ( Term of Reference) ของการประมูล Duty Free และพื้นที่เชิงพาณิชย์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะออกมาเป็นรูปแบบใด เพราะสัญญาเดิมกำลังจะหมดอายุสัมปทานลงในปี 2563 แนวทางของ TOR นั้นสามารถออกได้หลายหน้า โดยทาง ทอท. ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการทำงานในปัจจุบันของธุรกิจ อาทิ ให้สัมปทานทั้งหมดกับรายใหญ่เพียงรายเดียว ( master concession) หรือเช่นเดียวกับการประมูลที่สนามบินอู่ตะเภา คือ การแยกพื้นที่ดิวตี้ฟรีออกจากพื้นที่ค้าปลีก โดยแต่ละพื้นที่ให้เอกชนเพียงรายเดียวได้รับสัมปทาน หรือ ให้สัมปทานตามกลุ่มสินค้า (muitiple concessions by Category) หรือ ให้สัมปทานตามกลุ่มสินค้าและตามที่ตั้ง (muitiple concessions by Category and by location)
เช่นเดียวกัน Pick Up Counter หรือจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร คาดว่า จะเปิดให้บริการแบบทั่วไป เพียงแต่ว่าบริษัทการท่าอากาศยานไทย จะเข้ามาดำเนินการเองเหมือนสนามบินอู่ตะเภาหรือเปิดประมูล ให้เอกชนบริหารงาน
รายงานข่าวแจ้งว่า TOR ร้านค้าปลอดอากร พื้นที่เชิงพาณิชย์ และ Pick Up Counter ทอท.น่าจะหาบทสรุปและประกาศออกมาได้ไม่เกินช่วงเดือนมกราคม 2562
6 เอกชนไทย-ต่างชาติ
ลุ้นเค้กแสนล้าน
สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินขนาดใหญ่มีผู้โดยสารทั้งคนไทยและต่างประเทศเข้าออก 62.81 ล้านคนต่อปี ( ข้อมูลปีงบประมาณ 2561) มียอดซื้อขายสินค้าและบริการปีละเกือบแสนล้านบาท ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจที่ภาคเอกชนจับจ้องด้วยสายตาที่แวววาวและเชื่อว่า จะเป็นการประลองกำลังครั้งที่สองของเอกชนทั้ง 6 รายเดิมที่เคยประมูลที่สนามบินอู่ตะเภา อย่างกลุ่ม King Power กลุ่มเซ็นทรัล- DFS สิงคโปร์ กลุ่มล็อตเต้ เกาหลีใต้ กลุ่มบางกอกแอร์เวย์ กลุ่มไมเนอร์-SSP และ กลุ่มเดอะมอลล์
เชื่อได้ว่า ประมูลรอบนี้จะเป็นการแข่งขันดุเดือดเลือดพล่านแน่นอน
เพราะ เจ้าของพื้นที่เดิมอย่าง คิง เพาเวอร์ ในฐานะแชมป์เก่าจะเดินเข้าสู่เวทีประมูลเพื่อรักษาตำแหน่งแชมป์เ ประกอบกับ ผลงานล่าสุดสดๆร้อนๆ กลุ่มคิง เพาเวอร์ ชนะการประมูลบริหารพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงและยังได้รับอนุญาตให้บริหาร 5 กลุ่ม สินค้าลักชัวรี่ คือ ธุรกิจนาฬิกาและจิวเวลรี่ ภายใต้ 5 แบรนด์ คือ Cartier, IWC, Schalfthausen, Piaget, Panerai และ Jaeger-LeCoultre และการประมูลที่สนามบินอู่ตะเภา
ฉะนั้นกลุ่มคิง เพาเวอร์ ถือได้ว่า เป็นกลุ่มธุรกิจดิวตี้ฟรีของคนไทยที่มีทั้งด้านความรู้ เทคโนโลยี การบริหารจัดการอีกทั้งได้รับความไว้วางใจจากต่างประเทศเต็มเปี่ยม จึงมีความพร้อมในการประมูลทุกรูปแบบ
กลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ และ DFS สิงคโปร์ กลุ่มนี้ไม่อาจมองข้ามได้เลย ตระกูลจิราธิวัฒน์เก่งเรื่องค้าปลีกยิ่งจับมือกับ DFS ผู้บริหารดิวตี้ฟรีรายใหญ่ของสิงคโปร์ อีกทั้งเพิ่งชนะประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่อู่ตะเภามาด้วย ยิ่งสร้างความฮึกเหิมให้กับกลุ่มเซ็นทรัลอย่างมาก มั่นใจถึงกับประกาศว่า “ลมเปลี่ยนทิศ” แล้ว โดยเดินเกมส์ผ่านนายกสมาคมค้าปลีก นายวรวุฒิ อุ่นใจ ซึ่งใช้กลยุทธ์ให้สมาคมเป็นคนพูดแทนและพยายามหาช่องทางความได้เปรียบในทุกๆทาง
กลุ่มล็อตเต้ ประเทศไทย ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ล็อตเต้เกาหลี กลุ่มนี้พลาดท่าจากสนามบินอู่ตะเภามาแล้ว และปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินร้านค้าปลอดภาษีในเมือง แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะไม่มีจุดรับส่งสินค้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ
กลุ่มล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี ไทยแลนด์ ประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่คือ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (สิงคโปร์) พีทีอี ลิมิเต็ด ถือหุ้นจำนวน 49% กลุ่มแอลแอนด์เอส (สิงคโปร์) ถือหุ้น 30% และกลุ่ม โชว์ แอสเซท แมเนจเม้นท์ ถือหุ้น 21%
ขณะที่ โชว์ดีซี นั้นมีผู้ถือหุ้น 3 กลุ่ม คือ พีพีเอ็ม โกลบอล ลิมิเต็ด (มาเลเซีย) ถือหุ้น 48.14% กลุ่ม เออีซี แคปปิตอลถือหุ้น 42.21% และแพ่งเพียร เหล่ากำเนิด ถือหุ้น 9.65% ซึ่งดูแล้วเหมือนไม่มีอะไร!
แต่อย่าลืมว่า ในล็อตเต้ มีกลุ่มโชว์ แอสเซท แมเนจเม้นท์ถือหุ้นอยู่ด้วย ซึ่งกลุ่มโชว์ แอสเซทนั้นมีกลุ่ม เออีซี แคปปิตอลถือหุ้นใหญ่อยู่ 99.98% และขณะที่ในส่วนของหุ้นเออีซี แคปปิตอลนั้นมีกลุ่มภูตรา คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้นอยู่ 20% และในกลุ่มภูตราก็มีผู้ถือหุ้นอยู่ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ชยดิฐ หุตานุวัชร์ ถือหุ้น 35% ลาดหญ้า อูริยา ถือหุ้น 22.5% รวิฐา พงศ์นุชิต ถือหุ้นอยู่ 22.5% และประภาวัลย์ เวลาดีวงณ์ ถือหุ้น 20%
ดังนั้นในศึกการประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิครั้งนี้ กลุ่มล็อตเต้พลาดไม่ได้หลังจากเสียทีให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ในการประมูลที่สนามบินอู่ตะเภามาแล้ว โดยเฉพาะ รวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมร้านค้าปลอดอากร และหุ้นส่วนของล็อตเต้ เดินเกมร่วมกับสมาคมร้านค้าปลีกเพื่อผลักดันให้ทางการเปิดสัมปทานตามแนวทางที่กลุ่มต้องการ เพราะหากกลุ่มล็อตเต้พลาดอีกครั้งจะเสียฟอร์มเสียศักดิ์ศรียักษ์ใหญ่จากเกาหลีอย่างมาก
ส่วนกลุ่มของนายแพทย์ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือกลุ่ม บริษัท บางกอกแอร์เวย์ส โฮลดิ้ง จำกัด ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า ร่วมทุนกับใครแต่ต้องไม่ลืมว่า บริษัทนี้เป็นบริษัทฐานะการเงินเข้มแข็ง ก่อตั้งเมื่อ 27 ตุลาคม 2530 ปัจจุบันบริษัทนี้ถือหุ้นในกิจการในเครือของหมอเสริฐอยู่หลายแห่ง อีกทั้งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บางกอกแอร์เวย์ บูติคแอร์ไลน์
ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองคือ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ได้เข้าไปซื้อหุ้น 100% บริษัท มอร์แดนฟรี จำกัด ผู้ซึ่งดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีหลายแห่งประกอบด้วย สนามบินนานาชาติสมุย สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา (อาคาร1) สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินหลวงพระบาง สปป.ลาว แต่ทั้งหมดเป็นสนามบินขนาดเล็ก ดังนั้นจึงไม่แปลกเมื่อกลุ่มนี้สนใจกระโดดเข้าสู่พื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อขยายส่วนแบ่งการตลาดให้มากขึ้น
กล่าวโดยสรุป เกมประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิจนถึงปัจจุบันนี้ มีบริษัทคนไทย 2 ราย และบริษัทร่วมทุนต่างประเทศอีก 2 รายที่เปิดตัวจะเข้าร่วมชิงชัย และช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 นี้ การประมูลดิวตี้ฟรี ฯ เป็น 1 ใน 3 ของมันนี่เกมระดับอภิโปรเจคที่จะต้องจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นเกมการต่อสู้ที่กอปรด้วยปฏิภาณไหวพริบ กลยุทธ์ลูกเล่นเหลี่ยมคูที่น่าสนใจน่าติดตามจนไม่อาจจะละสายตาได้