บทวิเคราะห์ : ใครว่าคนไทยจน? มอเตอร์ เอ็กซ์โป ทุบสถิติ ยอดขายรถถล่มทลาย ตอกย้ำปีทอง “อุตฯ ยานยนต์ไทย”

ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 14.5 ล้านคน เม็ดเงิน 38,730 ล้านบาท

ตั้งแต่ค่าไฟไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน ค่าน้ำไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน และแจกเงินเป็นของขวัญปีใหม่อีก 500 บาท เริ่มโอนเงินเข้าบัญชีไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม เป็นวันแรก

บังเอิญมาตรงกับอีเวนต์ใหญ่ขายรถช่วงปลายปี งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2018 ที่เมืองทองธานีพอดิบพอดี

ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ต่างกันสุดขั้ว สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ขั้วหนึ่ง ประเทศไทยมีคนจนมากถึง 14.5 ล้านคน มีคนแก่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไปกว่าเกือบ 4 ล้านคนซึ่งรัฐบาลต้องดูแล

แต่อีกขั้วหนึ่ง คนมีเงินยังใช้จ่ายอู้ฟู่ สร้างปรากฏการณ์ทุบสถิติการขายรถยนต์แบบถล่มทลาย

 

ระยะเวลาจัดงานแค่ 13 วัน กวาดยอดจองรถไปถึง 4.5 หมื่นคัน มอเตอร์ไซค์อีกกว่า 9 พันคัน มีเงินหมุนเวียนจากอีเวนต์นี้มากกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท

“คนไทยจนไม่จริง” เห็นได้จากพฤติกรรมครั้งนี้

โดยเฉพาะรถหรูขายดีมาก ในขณะที่อีโคคาร์กลับแผ่ว

สำหรับรถยนต์ที่อยู่ในกลุ่มขายดี 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ รถเอสยูวี โดยเฉพาะลักชัวรี่เอสยูวี ลัมโบร์กินี อูรุส ราคา 23-25 ล้านบาท ยังปรากฏยอดจองในงาน รวมถึงโรลส์-รอยซ์ คัลลิแนน ที่มีราคาถึง 32.9 ล้านบาทก็ถูกจับจองด้วย

กลุ่มที่ 2 รถยนต์นั่งหรูทั้งแบรนด์ยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากก่อนหน้านี้ค่ายรถยนต์มีการส่งรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ทำให้เกิดกระแสความสนใจค่อนข้างมาก

กลุ่มที่ 3 กลุ่มรถสปอร์ต อาทิ ปอร์เช่, มาเซราติ, แอสตัน มาร์ติน ฯลฯ

กลุ่มที่ 4 รถปิกอัพ

และกลุ่มที่ 5 รถยนต์อีวี และปลั๊ก-อิน ไฮบริด

ส่วนรถยนต์นั่งขนาดเล็กหรืออีโคคาร์นั้นกลับได้รับความสนใจลดลง ทั้งนี้ น่าจะเป็นผลมาจากในช่วงที่ผ่านมาความต้องการของรถยนต์กลุ่มนี้ได้ถูกดึงออกมาใช้ล่วงหน้าจากโครงการรถยนต์คันแรก

ทำให้ตลาดรถประเภทนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร สวนทางกับรถยนต์นั่งขนาดเล็กหรือซิตี้คาร์กลับได้รับความสนใจมากกว่า

รวมไปถึงกลุ่มรถยนต์แนวคิดหรือคอนเซ็ปต์คาร์ ซึ่งมีทั้งเมอร์เซเดส-เบนซ์ “อีคิวเอ” รถยนต์ต้นแบบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบ 100%

มาสด้า อาร์เอ็กซ์-วิชั่น (RX-Vision) และวิชั่น คูเป้ (Vision Coupe) ซึ่งมาสด้ายืนยันว่าไม่เกิน 1 ปี น่าจะคลอดออกมาเป็นโปรดักชั่นคาร์ได้อย่างแน่นอน

 

“ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์” ประธานจัดงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป โชว์ตัวเลขของงานปีนี้ซึ่งประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่

มียอดขายรถยนต์จาก 36 ผู้ผลิต 44,189 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.9%

อันดับสูงสุดพลิกมาเป็นฮอนด้า 6,842 คัน หลังจากทุกปีที่ผ่านมา โตโยต้าครองอันดับหนึ่งมาตลอด

อันดับ 2 เป็นมาสด้า 6,509 คัน

อันดับ 3 โตโยต้า 5,907 คัน

อันดับ 4 อีซูซุ 4,437 คัน

และอันดับ 5 มิตซูบิชิ 3,619 คัน

รถเก๋งได้รับความสนใจสูงสุด มีสัดส่วนยอดขาย 38.9% ใกล้เคียงปีก่อน (38.7%) แบ่งเป็นเก๋งซีดาน 25.4% และแฮตช์แบ็ก 13.5%

5 อันดับแรก ได้แก่ ฮอนด้า ซีวิค, ฮอนด้า ซิตี้, มาสด้า 2, ฮอนด้า แจ๊ซ และเอ็มจี 3

ขณะที่รถเอสยูวีมีสัดส่วน 34.3% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน

5 อันดับแรก ยังเป็น มิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต, เอ็มจี แซดเอส, ฮอนด้า ซีอาร์-วี, ฮอนด้า เอชอาร์-วี และฟอร์ด เอเวอเรสต์

ส่วนกลุ่มที่สัดส่วนการขายลดลงหรือไม่โตนั้น มีสองกลุ่มคือ ปิกอัพ และอีโคคาร์

กลุ่มรถยนต์ขนาดใหญ่หรือรถหรู มียอดขายรวม 4,213 คัน 5 อันดับที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ 2,244 คัน, บีเอ็มดับเบิลยู จำนวน 1,212 คัน, วอลโว่ จำนวน 340 คัน, ออดี้ จำนวน 198 คัน และปอร์เช่ จำนวน 169 คัน

ส่วนกลุ่มรถจักรยานยนต์จาก 23 ผู้ผลิต ยอดขายรวม 9,169 คัน สูงกว่าเป้า 8,000 คันที่ตั้งไว้

อันดับ 1 ได้แก่ ฮอนด้า 1,531 คัน อันดับ 2 ยามาฮ่า 1,111 คัน อันดับ 3 แลมป์เบสต้า จำนวน 1,012 คัน คาวาซากิ จำนวน 775 คัน และเวสป้า จำนวน 605 คัน

ที่เหลือเป็นกลุ่มบิ๊กไบก์ ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน, ไทรอัมพ์, บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด, ดูคาติ ฯลฯ

ยอดจองรถในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ยังสะท้อนให้เห็นว่าคนเลือกซื้อรถที่มีราคาแพงขึ้น ราคาเฉลี่ยของรถที่ขายในงาน 1.28 ล้านบาท และสูงกว่าปีก่อนเกือบสองหมื่นบาท

มีเงินหมุนเวียนภายในงานราว 56,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้เข้าชมงาน 1.53 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.8%

สถิติซึ่งถล่มทลายจากยอดจองรถในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ยังส่งให้เป้าหมายยอดขายรถยนต์โดยรวมปี 2561 ทะลุ 1 ล้านคัน

โดยก่อนหน้านี้ “สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) รายงานว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ผู้ผลิตต้องเร่งผลิตรถล่วงหน้าเพื่อชดเชยวันหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่

และผลิตรถรองรับยอดจองที่จะพีกมากในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป

โดยมีสถิติการผลิตรถยนต์ 9 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) รวมทุกประเภท 1,801,319 คัน

แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 738,340 คัน ที่เหลือเป็นรถปิกอัพ, รถโดยสารและรถบรรทุก

จำนวนนี้ขายในประเทศไทย 55% และส่งออก 45%

ความต้องการของตลาดภายในประเทศที่มากขึ้น คาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะสร้างสถิติใหม่อีกครั้งที่ 2,100,000 คัน เติบโต 5.59% เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,000,000 คัน และผลิตเพื่อส่งออก 1,100,000 คัน

 

ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการผลิตอยู่ในอันดับ 12 ของโลก หรือคิดเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นที่ 1 ของอาเซียนและโอเชียเนีย รวมถึงตะวันออกกลาง

ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์

และที่สำคัญ ประเทศไทยยังติดอันดับหนึ่งในห้าของโลกในเรื่องของความคุ้มค่าในการผลิต เทียบเท่าญี่ปุ่น หรือประเทศชั้นนำของโลก

โดยเฉพาะรถปิกอัพ โปรดักต์แชมเปี้ยนตัวแรก ซึ่งมีความต้องการใช้งานเพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง-โครงสร้างพื้นฐาน และเกษตรกรรม

ตามมาด้วยอีโคคาร์ โปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่สอง ซึ่งส่งออกก็กำลังไปได้สวย และอนาคตอันใกล้จากการผลักดันอย่างจริงจังของรัฐบาล “รถยนต์ไฟฟ้า” กำลังจะขึ้นมาเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่สามที่ทุกคนรอคอย

ขณะที่ปีหน้าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มั่นใจว่ายังเป็น “ปีทอง” ของอุตสาหกรรมรถยนต์ต่ออีกปี การเติบโตอย่างน้อยต้องมี 5% ตัวเลขอาจจะทะลุขึ้นไป 1.1 ล้านคัน

ปัจจัยหนุนหลักๆ คงมาจากจีดีพีของประเทศที่โตขึ้น การลงทุนเพิ่มจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างชัดเจน

และที่ลืมไม่ได้คือการเลือกตั้ง ที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่งน่าจะหนุนยอดขายรถยนต์ทุกประเภทได้อย่างคึกคัก

ตอกย้ำปีทองอีกปีของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแท้จริง