แรงงานสูงวัยภาคเกษตร ทะยานเพิ่มขึ้นอย่างมาก!

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เปิดเผย

ภาคเกษตรมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเพราะมีการจ้างแรงงานสูงถึงร้อยละ 30.9 ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ครอบคลุมจำนวนครัวเรือนถึง 5.9 ล้านครัวเรือน

กระนั้น ภาคเกษตรโดยรวมกลับมีสัดส่วนในมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพียงร้อยละ 10

มีปัญหาความเหลื่อมล้ำของระดับผลิตภาพและรายได้สูงเมื่อเปรียบเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่น

ในการศึกษานี้ใช้ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรปี 2560 ซึ่งจัดเก็บและแก้ไขทุกปีโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ครอบคลุม 5.76 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด

พบว่าโครงสร้างครัวเรือนเกษตรกรไทยโดยเฉลี่ยมีสมาชิก 2.7 คน และร้อยละ 75 มีส่วนร่วมในการทำการเกษตร หากมองในมิติอายุและการศึกษา ภาคเกษตรไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสูงวัยของแรงงานซึ่งเร็วกว่าภาพรวมของประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น โดยมีสัดส่วนของแรงงานเกษตรสูงอายุที่มีอายุ 40-60 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 39 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 49 ในปี 2556

สวนทางกับสัดส่วนของแรงงานอายุน้อยหรือมีอายุ 15-40 ปี ที่ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 42 ในช่วงเวลาเดียวกัน

แรงงานที่มีอายุน้อยในภาคเกษตรลดลงเร็วมาก ขณะที่แรงงานในภาคเกษตรที่มีอายุเพิ่มขึ้นมากเรื่องนี้เป็นอุปสรรคต่อยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้เกษตรกรนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เพราะเมื่อเกษตรกรมีอายุสูงขึ้น การเรียนรู้นวัตกรรมก็ทำได้ไม่เต็มที่

นี่คือสัดส่วนที่ผกผันระหว่างแรงงานอายุน้อยกับแรงงานสูงวัยในภาคการเกษตรไทย