ธุรกิจพอดีคำ : “70% พอ”

“เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด

เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ”

เมื่อสมัยเด็กๆ ผมได้มีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง

“15 ค่ำ เดือน 11”

เรื่องราวการเกิดขึ้น การบูชาบั้งไฟพญานาค ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แถบจังหวัดหนองคาย ลูกไฟเล็กๆ ที่ผุดขึ้นจากผืนน้ำ พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า นับร้อย นับพัน มันเกิดจากอะไร

ธรรมชาติ พญานาคที่อาศัยแหวกว่ายอยู่ในแม่น้ำโขง

หรือมนุษย์นี่เองเป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อต่ออายุความศรัทธาของชาวพุทธ

และนักท่องเที่ยวที่นำ “รายได้” เข้ามาในบริเวณนั้น

คำกล่าวของ “หลวงพ่อ” ที่ถูกชาวบ้านบางส่วนเริ่มคลางแคลงใจ

ว่า “บั้งไฟพญานาค” ที่ผุดขึ้นจากแม่น้ำโขง

จะเป็นฝีมือของ “หลวงพ่อ” เองหรือเปล่า

เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด แล้วเฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ

แปลง่ายๆ ว่า เชื่อในสิ่งที่คุณทำ แล้วทำในสิ่งที่คุณเชื่อ

ผมเองในวัยเด็กก็ยังไม่เข้าใจมันมากเท่าไร

จนกระทั่งได้มีโอกาสมาทำงานด้าน “นวัตกรรม” ในหลายๆ ภาคส่วน

เมื่อเดือนก่อนผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท “ปิโตรนาส (Petronas)”

เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศ “มาเลเซีย”

ถ้าให้เทียบ ก็คงจะไม่แตกต่างจาก “ปตท.” บ้านเรา

ต่างเพียงแค่ เขาร่ำรวยกว่าเรามาก

ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ เขาส่งออก “น้ำมัน” ไปขายทั่วโลก

ในขณะที่เรา “นำเข้า” น้ำมันมากลั่นขายภายในประเทศ แค่นั้น

บริษัท “ปิโตรนาส” ทำธุรกิจทั่วโลก มีออฟฟิศอยู่ที่ “ซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley)”

สถานที่ที่ “สตาร์ตอัพ” เปลี่ยนโลกมากมายเกิดขึ้น

ผมในฐานะที่ทำงานด้าน “นวัตกรรม” ในองค์กรขนาดใหญ่ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานของเขา

ก็พบว่ามีเรื่องน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง

นั่นคือเรื่องของการกำหนด “วิสัยทัศน์”

ผู้บริหารของปิโตรนาสบอกว่า เขาจะมีการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาทำแผนกลยุทธ์ต่างๆ

ไม่ต่างจากบริษัทใหญ่ๆ ทั่วไป

แต่ถ้าเป็นเรื่องของ “วิสัยทัศน์” แล้ว

เรา “เชื่อ” ว่าโลกอนาคตจะเป็นอย่างไร

เรา “เชื่อ” ว่าเราจะสามารถแทรกตัวไปอยู่ตรงไหนในโลกอนาคตได้บ้าง

เรา “เชื่อ” ว่าเราน่าจะทำได้

เมื่อผู้บริหารมี “ความเชื่อ” ตรงกันแล้ว

นั่นแหละคือ “วิสัยทัศน์” ของบริษัท

ซึ่งแน่นอน ว่าอาจจะไม่ถูกต้อง ไม่ได้มีข้อมูลทุกอย่างรองรับ

แต่ก็นั่นแหละ คือ “หน้าที่” ของผู้บริหารผู้มากประสบการณ์

และจะต้อง “รับผิดชอบ” กับการทำให้ “วิสัยทัศน์” นั้นๆ เป็นจริงให้ได้มากที่สุด

เมื่อกำหนด “วิสัยทัศน์” แล้ว จึงถามความเห็นจาก “ผู้เชี่ยวชาญ”

นำมาปรับตามที่ต้องการ และเริ่มทำแผนกลยุทธ์ในการ “ลงมือทำ (execution)”

ที่สำคัญคือ “เชื่อ” ในบางสิ่งเสียก่อน แม้จะไม่ได้มีข้อมูลที่สมบูรณ์แบบบ่งชี้ว่าความเชื่อนั้นจะถูกหรือผิด

รับผิดชอบกับมัน และลองลงมือทำไปก่อน

จะถูกหรือผิด ค่อยกลับมาปรับกันใหม่

เรื่องของ “นวัตกรรม” ต้องเชื่อก่อน

แล้ว “ทาง” อาจจะเปิดให้เห็นรางๆ

นี่แหละหน้าที่อย่างหนึ่งของผู้บริหารระดับสูง

เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของบริษัทอเมซอนดอตคอม (Amazon.com) บริษัทขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอเมริกา

เคยเขียนจดหมายเปิดผนึกให้กับ “ผู้ถือหุ้น”

บอกเล่าวิธีการทำงานของเขาในเรื่องของการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ

เขาบอกว่า ในโลกยุคนี้ ถ้ามีข้อมูลมากถึง 70% แล้ว เขาจะตัดสินใจทันที

ถ้ารอให้ข้อมูลมากกว่านี้ แน่นอนว่า “รอบคอบ” มากกว่า

แต่ว่าจะทำให้องค์กร “เรียนรู้ได้ช้า” ซึ่งถือว่าเป็นข้อเสียเปรียบขององค์กรที่จะแข่งขันในยุคนี้

ผู้บริหารหลายแห่งถามหาข้อมูลจากลูกน้อง

ถามแล้ว ถามอีก

คาดหวังให้ได้ข้อมูลที่ “สมบูรณ์แบบ” ก่อนที่จะตัดสินใจอะไรสักอย่าง

ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ “อุดมคติ”

นอกจาก “เป็นไปไม่ได้แล้ว”

ยังทำให้องค์กร “ไม่เดินไปข้างหน้า”

ติดกับดัก “ห้องประชุม” ปีแล้วปีเล่า ไปกล้าตัดสินใจกับข้อมูลที่ “ไม่สมบูรณ์แบบ”

รีด ฮอฟฟ์แมน (Reid Hoffman) เจ้าของบริษัทลิงก์อิน (Linkedin)

ชุมชนออนไลน์ของคนทำงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกขายไปให้กับบริษัท Microsoft ไปกว่า “สองหมื่นล้าน” เหรียญสหรัฐ

มีคำพูดติดปากที่ “สตาร์ตอัพ” แถบซิลิคอน วัลเลย์ นำมาใช้กัน

“ถ้าคุณไม่ถูกตำหนิในครั้งแรกที่ลูกค้าใช้ของของคุณ นั่นอาจจะหมายถึงว่า คุณตัดสินใจช้าเกินไป”

การลงมือทำเพื่อสร้างสินค้าออกสู่ตลาดในโลกยุคดิจิตอลต้องทำอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ลูกค้าได้ทดสอบ

โดยคาดหวังว่า ลูกค้าจะให้ “คำติชม” ที่มีคุณค่ามาให้เราพัฒนาสินค้าของเราอย่างรวดเร็ว

ดีกว่าการวางแผนยืดยาวในห้องประชุม

ที่มีเพียงความเห็นของคนในองค์กรที่ชอบคิดแทนลูกค้า

ความเร็วในการตัดสินใจ ลงมือทำทั้งๆ ที่ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์แบบ

เชื่อในสิ่งที่ยังมองไม่เห็น (believe it before you see it)

หรือที่เราเรียกกันว่า “วิสัยทัศน์ (Vision)”

นี่แหละคือ “ทักษะ” อย่างหนึ่งของผู้บริหารในยุคนี้

เมื่อ “เชื่อ” แล้วเริ่ม “เฮ็ด”

สิ่งที่ “เฮ็ด” ก็จะกลายเป็น “สิ่งที่เชื่อ” มากขึ้นเรื่อยๆ

วิสัยทัศน์ จากที่ยังขมุกขมัว

ก็จะพลันชัดเจนขึ้น

ด้วยความกล้าหาญในการตัดสินใจของ “ผู้บริหาร” นั่นเอง

70% พอแล้วครับ ลุยเลย!