ย่อข่าวเศรษฐกิจ : ไทยแก้ไม่ตกประเทศคอร์รัปชั่น / จบละคร “บุพเพฯ” ช่อง 7ทวงแชมป์ / “เทวินทร์” แจง 8 ข้อหยุดกระแสต้าน ปตท.

แฟ้มข่าว

จบละคร “บุพเพฯ” ช่อง 7 คืนแชมป์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช. ได้รายงานค่าความนิยมของช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในเดือนเมษายน 2561 จากการสำรวจของบริษัท นีลเส็น พบว่าช่องรายการที่มีผู้ชมสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ช่อง 7HD เรตติ้ง 1.750 อันดับ 2 ช่อง 3HD เรตติ้ง 1.583 อันดับ 3 ช่อง MONO 29 เรตติ้ง 0.848 อันดับ 4 ช่อง WORKPOINT เรตติ้ง 0.759 อันดับ 5 ช่อง 8 เรตติ้ง 0.584 อันดับ 6 ช่อง ONE HD เรตติ้ง 0.549 อันดับ 7 ช่องไทยรัฐ ทีวี เรตติ้ง 0.301 อันดับ 8 ช่อง AMARIN TV HD เรตติ้ง 0.285 อันดับ 9 ช่อง 3SD เรตติ้ง 0.265 และอันดับ 10 ช่อง MCOT HD เรตติ้ง 0.186 “สำหรับช่อง 3HD พบว่าค่าความนิยมเฉลี่ยค่อยๆ ลดลง ภายหลังจากละครบุพเพสันนิวาสได้อวสานลงเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2561 ส่งผลให้ช่อง 7HD สามารถกลับมามีค่าความนิยมของช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินสูงสุดเป็นอันดับ 1 ประจำเดือนเมษายน 2561”

ไทยแก้ไม่ตกประเทศคอร์รัปชั่น

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนาหัวข้อ ความรับผิดชอบและแนวปฏิบัติขององค์กรธุรกิจเอกชน ในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยนางปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจากการจัดอันดับดัชนีบ่งชี้ระดับคอร์รัปชั่นระหว่างประเทศปี 2560 ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก คือผลจากการทุจริตทั้งในภาคเอกชน และภาคเอกชนร่วมรัฐ

นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญ และอยู่ในระดับรุนแรงที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งเกิดขึ้นในทุกวงการ หลายรูปแบบ แม้ประเทศไทยจะพัฒนากฎหมายหลายฉบับ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตในรูปแบบต่างๆ แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่หมดสิ้น จากสถิติในคดีสินบนข้ามชาติ หรือสินบนขนาดใหญ่ พบว่า 57% คือคดีสินบนในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยใน 53% ผู้บริหารระดับสูงมีส่วนเกี่ยวข้อง และ 3 ใน 4 ส่วน ของคดีทุจริตระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับการใช้ตัวแทน และจากสถิติจุดประสงค์ของการให้สินบน ระบุว่า 57% เพื่อให้ได้รับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 12% เพื่อให้ผ่านพิธีการศุลกากร 7% เพื่อการปฏิบัติที่เป็นพิเศษ 6% เพื่อการปฏิบัติเป็นพิเศษทางภาษี และเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตหรือการอนุญาต 4% เพื่อเข้าถึงข้อมูลความลับ 1% เพื่อให้ได้วีซ่าเดินทาง และ 7% ไม่รู้

“เทวินทร์” แจง 8 ข้อหยุดกระแสต้าน ปตท.

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Tevin at PTT” ค่ำวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชี้แจงกรณีการแชร์ข้อความในโลกออนไลน์เพื่อให้หยุดเติมน้ำมัน ปตท. โดยตั้งกระทู้ถามหัวข้อ “หยุดเติมน้ำมัน ปตท.” อารมณ์ เหตุผล หรือเจตนาแอบแฝง ทั้งนี้ นายเทวินทร์ได้ตั้งคำถาม 8 คำถามและได้อธิบายเหตุผลของคำถามที่ตั้งขึ้นมาทั้งหมด โดยสรุปนายเทวินทร์กล่าวว่า เรื่องข้อกล่าวหาต่อ ปตท. ทั้งหมดเป็นเรื่องเดิมๆ ที่ ปตท. มีความพยายามชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งหมดให้สังคมรับทราบมาโดยตลอด แต่ยังมีขบวนการตั้งใจโจมตี ปตท. มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องคิดต่อว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร? ใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง? ไม่เข้าใจพื้นฐานของอุตสาหกรรมพลังงานจริงๆ หรือ? ใครได้ประโยชน์อะไรจากการที่ทำให้บริษัทพลังงานของชาติเสียหายและอ่อนแอลง ซึ่งต้องมีการดำเนินทางกฎหมายกับผู้จงใจบิดเบือนข้อมูล หมิ่นประมาท และสร้างความเสียหายกับองค์กร คือ ปตท.

ร.ฟ.ท.รอชงบอร์ดตั้ง บ.เดินรถไฟสีแดง

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างศึกษาการจัดตั้ง 2 บริษัทลูก เพื่อเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง และเพื่อบริหารสินทรัพย์ที่สถานีกลางบางซื่อ คาดว่าจะขออนุมัติคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ได้ในการประชุมวันที่ 21 มิถุนายนนี้ โดยจะเสนอให้อัพเกรดหรือยกระดับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ เป็นบริษัทเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงแทน หลังต้องยุบบริษัทเมื่อโยกโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ไปอยู่ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายหลังโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบินเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากบอร์ดอนุมัติจะขอโอนย้ายบุคลากรของบริษัท รถไฟฟ้าฯ มาสังกัดบริษัทที่ตั้งใหม่นี้ พร้อมขอเงินประเดิมประมาณ 3,000 ล้านบาท รวมถึงเปิดสรรหาซีอีโอคนใหม่ต่อไป ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อคาดว่าจะสามารถคัดเลือกผู้ชนะการประมูลได้อย่างช้าต้นปีหน้า และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ร.ฟ.ท. จะย้ายสำนักงานมาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวนี้ต่อไป

คลังปรับจีดีพีโต 4.5% สูงสุดรอบ 6 ปี

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการตัวเลขอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2561 เป็น 4.5% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 จากเดิมคาดไว้ที่ 4.2% เนื่องจากล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศจีดีพีไตรมาสแรก 2561 ขยายตัวถึง 4.8% สูงที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส (5 ปี) สูงกว่าที่กระทรวงการคลังคาดไว้ที่ 4.0% โดยมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐมาจากการลงทุนภาครัฐ จากที่เคยล่าช้าในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 ประเมินว่าการลงทุนภาครัฐจะสูงถึง 10% จากเดิมประเมินที่ 8.9% การลงทุนเอกชนเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น การบริโภคเริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีส่งผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวโตต่อเนื่อง

ส่วนทิศทางราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นคงไม่สูงถึงระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล