ย่อข่าวเศรษฐกิจ : เร่งคลอดโรงไฟฟ้าถ่านหิน / กนง.ส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ยยาว / เปิดเฮียริ่งเกณฑ์คุมเงินดิจิตอล

เร่งคลอดโรงไฟฟ้าถ่านหิน

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้ยกร่างข้อกำหนดการศึกษาฯ เสร็จแล้ว เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาคาดว่าจะรู้ผลภายใน 1-2 เดือนเพื่อศึกษาเอสอีเอให้ครอบคลุมทุกทางเลือกการพัฒนา สามารถตอบคำถามต่อภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้องและใช้ประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานการยอมรับของประชาชน คาดใช้งบฯ ดำเนินการประมาณ 50 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานให้ศึกษาแล้วเสร็จภายใน 9 เดือน นับจากวันที่ผู้ว่าจ้างกำหนดให้เริ่มงาน โดย 5 เดือนแรกนับจากได้ที่ปรึกษาจะต้องนำเสนอผลการศึกษาเรื่องผลวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ภาคใต้ ว่าควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ หากจะมีพื้นที่ใดบ้างที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ตลอดจนผลวิเคราะห์ทางเลือกอื่น ในการพัฒนาพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ในกรณีที่หากไม่มีพื้นที่ที่จะสามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป

กนง.ส่งสัญญาณตรึง ดบ.ยาว

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 3/2561 ว่า กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 0 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี มีกรรมการ 1 ท่านลาประชุม เป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องครั้งที่ 24 หรือนับตั้งแต่ 2558 โดย กนง. เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงส่งจากทั้งภาคต่างประเทศ จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีตามเศรษฐกิจโลกขยายตัว ส่วนในประเทศบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจและยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐ โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามความเข้มแข็งของอุปสงค์ในประเทศและพัฒนาการของเงินเฟ้อในระยะต่อไป

พาณิชย์เตรียมแผนรับมือราคาสินค้า

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มผลผลิตข้าวนาปรังและนาปี 2561/2562 เทียบปีที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้น 10-20% เนื่องสภาพอากาศและปริมาณน้ำค่อนข้างดี และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาราคาตก รัฐบาลได้เตรียมมาตรการและแผนส่งเสริมการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวคุณภาพ รวมถึงมีการเชื่อมโยงตลาดค้าข้าวล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาลใหม่ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเจ้าไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อตัน นอกจากนี้ มีแผนดูแลราคาสินค้าชนิดต่างๆ ด้วย เช่น ปาล์มน้ำมัน หลังรัฐบาลออก 5 มาตรการในการลดปริมาณสต๊อกที่เกิน 4-5 แสนตัน และควบคุมราคารับซื้อน้ำมันปาล์ม ทำให้ราคาผลปาล์มไม่ต่ำกว่า 3.0-3.20 บาท/กิโลกรัมแล้ว ด้านทิศทางราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ว่า สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามและศึกษาโครงสร้างต้นทุนสินค้าต่างๆ ว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่จะได้รับผลกระทบต่อต้นทุนและราคาที่เพิ่มขึ้น โดยจะออกมาตรการดูแลที่สมดุลและไม่กระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งเบื้องต้นกรมรายงานว่ามีผลต่อต้นทุนบางรายการขยับเพียงเล็กน้อย

เปิดเฮียริ่งเกณฑ์คุมเงินดิจิตอล

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล โดยเผยแพร่เอกสารเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนต่อแนวทางกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิตอล และการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล เพื่อนำไปสู่การออกเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสมต่อไป โดยกฎหมายเปิดให้ผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิตอลโดยสุจริตสามารถทำได้โดยถูกกฎหมาย คุ้มครองผู้ลงทุนจากการถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบ และป้องกันการฟอกเงินได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการเปิดรับฟังความคิดเห็นนี้จะครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ หลักเกณฑ์การอนุญาตการเสนอขายโทเคนดิจิตอล คุณสมบัติของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิตอล (ไอซีโอ พอร์ทอล) การกำหนดประเภทผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนในโทเคนดิจิตอลได้ เป็นต้น สามารถแสดงความคิดเห็นได้จนถึง 30 พฤษภาคมนี้ที่ เว็บไซต์ ก.ล.ต. http://capital.sec.or.th/webapp/phs/viewall/viewall.php หรือทาง [email protected] [email protected] หรือ [email protected]

อุตฯ ผุดแอพพ์สินค้าเอสเอ็มอี

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อนำสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศสู่มือหน่วยงาน หรือองค์กรที่ต้องการประสานความร่วมมือ ต้องการสินค้า ตลอดจนผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยกำหนดให้นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ (อสจ.) ไปประสานกับผู้ผลิตสินค้า จัดทำเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้าที่โดดเด่น พร้อมคัดสรรสินค้าโดดเด่นมารวมไว้ให้ครบ 77 จังหวัดภายใน 2 สัปดาห์จากนี้

สำหรับแอพพลิเคชั่นนี้ไม่ใช่แค่ต้องการให้เกิดการซื้อขายระหว่างธุรกิจและลูกค้า (บีทูซี) แต่เพื่อให้เกิดความรับรู้ในวงกว้างว่าจังหวัดของไทยมีของดีเด่น พวกกองทุนหรือเวนเจอร์แคปิตอลต่างๆ เข้าแอพพ์มาก็อาจจะติดต่อไปได้ทันที เกิดการสร้างเครือข่ายไปถึงระดับชุมชน