ไปทำความรู้จัก “Big Data” – อำนาจในสายตาของใคร?

ไปทำความรู้จัก “Big Data” ในมุมมองอื่นๆ (จบ): อำนาจในสายตาของใคร?

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันค่อนข้างมากบนเวทีเสวนาหัวข้อ “Is Big Data a New Medium?” ณ วิทยาลัยศิลปะลาซาลล์ ประเทศสิงคโปร์ ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการครอบครองเข้าถึง “บิ๊กเดต้า” กับการใช้อำนาจสอดส่องวิถีชีวิต/ร่างกายของมนุษย์

พิจารณาในแง่นี้ เรื่อง “บิ๊กเดต้า” กับ “การเมือง” จึงแยกกันไม่ออก

หลายคนมักประเมินว่าอำนาจในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของผู้คน “เท่ากับ” อำนาจในการสอดส่อง (surveillance) ชีวิตพวกเขา

อย่างไรก็ดี “ดาวิเด้ พานาเจีย” นักวิชาการสาขารัฐศาสตร์จากยูซีแอลเอ พยายามผลักมุมมองดังกล่าวให้ขยับไปไกลกว่านั้น โดยเสนอว่า “การเมืองเรื่องเดต้า” (#datapolitik) คือ “อำนาจตำรวจ” ที่สลับซับซ้อนกว่าการสอบสวน-สืบสวน-จับกุมแบบเดิมๆ

นอกจากนี้ “อำนาจตำรวจ” ที่ใช้ “บิ๊กเดต้า” เป็นเครื่องมือสำคัญ ยังมิได้ทำงานผ่านการ “สอดส่อง” ซึ่งตามความเห็นของเขา หมายถึง การจ้องมอง-สำรวจ-ตรวจตรา พฤติกรรมและเรือนร่างของผู้คน ที่ถูกจำกัดควบคุมไม่ให้เคลื่อนย้ายไปไหนตามใจชอบ

ทว่า “การเมืองเรื่องเดต้า” กลับปล่อยให้มนุษย์ในโลกร่วมสมัยดำเนินชีวิตตามใจปรารถนา ก่อนจะแกะรอย-ตามติดเราไปทุกแห่งหน รวมทั้งคิดคำนวณแนวโน้มพฤติกรรมล่วงหน้าของพวกเราในอนาคต ด้วยศักยภาพทางเทคโนโลยีระดับสูง

“ติฮาจ อจนะ” นักวิชาการจากภาควิชามนุษยศาสตร์ดิจิตอล แห่งคิงส์คอลเลจ อาจไม่ได้ทำงานหนักเรื่องทฤษฎีมากเท่าพานาเจีย และเธอออกจะเห็นต่างว่าแนวคิดเกี่ยวกับ “อำนาจในการสอดส่อง” ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อศึกษาเรื่อง “บิ๊กเดต้า” ได้อย่างมีพลัง

แต่ทั้งสองคนก็มีจุดสนใจและคำถามร่วมกัน ว่าการเมืองเรื่อง “บิ๊กเดต้า” นั้นจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตสามัญชนอย่างไร?

อจนะนำเสนอถึงการเก็บข้อมูลทางชีวภาพหรือไบโอเมทริกซ์ในสามรูปแบบ ได้แก่ การเก็บข้อมูลดังกล่าวจากผู้คนที่ต้องเดินทางข้ามพรมแดนรัฐชาติ, การเก็บข้อมูลผู้อพยพเพื่อการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และการหมั่นเก็บสถิติการทำงานต่างๆ ของร่างกายตนเอง (self-tracking) ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ยอดนิยมของคนรุ่นใหม่

นี่คือเฉดสีที่หลากหลายของการเก็บข้อมูลทางชีวภาพ ตั้งแต่การเป็นกลไกอำนาจเพื่อติดตามควบคุมประชากร ไปจนถึงการเลือกจะจับจ้องชีวิตและร่างกายของตนเองโดยสมัครใจ

ตามความเห็นของนักวิชาการจากสหราชอาณาจักร เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ส่งผลให้กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองเป็นมากกว่าการควบคุมผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศตามด่าน ตม.

ทว่าการจัดเก็บข้อมูลทางชีวภาพของนักเดินทางซึ่งต้องแปะลายนิ้วมือต่อหน้าเจ้าหน้าที่ จะขยายขอบเขตอำนาจรัฐให้สามารถติดตามคนเหล่านั้นไปได้แทบทุกหนแห่ง

แถมยังช่วยให้การจัดจำแนกแบ่งประเภทของนักเดินทางมีระบบระเบียบชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งในอีกทางหนึ่ง หมายความว่าสิทธิการเดินทางของพลเมืองโลกจะยิ่งถ่างห่างและไม่เท่าเทียมกันหนักขึ้น

ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่บรรดาผู้ด้อยโอกาสก็มีความใกล้ชิดกับการเก็บข้อมูลทางชีวภาพส่วนบุคคลสูงขึ้นเรื่อยๆ

อาทิ โครงการ “ID2020” ที่สหประชาชาติและบริษัทเอกชนรายใหญ่หลายแห่ง จะร่วมกันจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก, สตรี และผู้อพยพนับพันล้านคน ซึ่งมิได้มีสถานะเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง และไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างที่พึงจะได้รับ

ด้านหนึ่ง เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์จึงเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้คนเหล่านั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่อีกแง่ นั่นหมายความว่า จะมีองค์กรบางหน่วยที่สามารถเข้ามาใช้อำนาจตรวจสอบ-จัดเก็บข้อมูลเหนือร่างกายของพวกเขาและเธอ

การช่วยเหลือด้วยจิตใจเมตตาและการใช้เทคนิคอำนาจควบคุมประชากรจึงกลายเป็นสองหน้าของเหรียญเดียวกัน นำไปสู่การตั้งคำถามของอจนะที่ว่า เราจะสามารถช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทุกราย (ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร) ได้หรือไม่?

หรือท้ายสุด เราจะเลือกเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แต่เฉพาะกับคนที่ถูกจัดเก็บข้อมูล/อัตลักษณ์ส่วนบุคคลไปแล้วเรียบร้อย?

ตัวอย่างทำนองเดียวกันยังถูกนำเสนอโดย “ราเชศ กุมาร” นักรัฐศาสตร์จากพีพีเอ็น คอลเลจ ประเทศอินเดีย ที่เจาะลึกถึงประเด็นความขัดแย้งว่าด้วยสมาร์ทการ์ด “AADHAAR” ในประเทศบ้านเกิด

“AADHAAR” คือการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมือง ถึงปัจจุบันมีประชากรอินเดีย 1.19 พันล้านคน ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตาม “ข้อบังคับ” แรกเริ่มของรัฐบาล ซึ่งให้เหตุผลว่าสมาร์ทการ์ดนี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชน, เบี้ยยังชีพคนชรา, สิทธิประกันการจ้างงาน ตลอดจนบริการทางธุรกรรมการเงินและโทรศัพท์มือถือที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น

แต่ก็มีผู้ท้วงติงนโยบายนี้ ด้วยการอ้างอิงถึงประวัติการนำข้อมูลของประชาชนไปใช้อย่างผิดพลาดหรือการปล่อยให้ข้อมูลรั่วไหล โดยเจ้าหน้าที่รัฐ

สุดท้าย ศาลสูงอินเดียจึงพิพากษาโดยอ้างอิงถึงหลักสิทธิส่วนบุคคลซึ่งบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ประชาชนจะสามารถถือครองการ์ด “AADHAAR” หรือไม่ก็ได้ ตาม “การเลือก” โดยสมัครใจของพวกเขา และรัฐบาลไม่สามารถบังคับให้ประชากรทุกคนต้องไปลงทะเบียน เพื่อแลกข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองกับสมาร์ทการ์ดดังกล่าว

ทั้งนี้ ศาลสูงยังออกคำสั่งไม่ให้รัฐบาลอินเดียกีดกันการเข้าถึงบริการสาธารณะของพลเมืองที่เลือกจะไม่ครอบครองการ์ดอัจฉริยะ

กลับมาที่ประเด็นหลักสุดท้ายของอจนะ ซึ่งแตกต่างจากเรื่องการใช้เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์กับการตรวจคนเข้าเมืองและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมากพอสมควร เพราะนี่คือการเลือกจะสำรวจตรวจตราข้อมูลทางชีวภาพของตนเองอย่างละเอียดยิบโดยคนรุ่นใหม่ทั่วทุกมุมโลก

แนวโน้มข้อนี้เป็นไลฟ์สไตล์ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมผลประกอบการทางธุรกิจที่พุ่งพะยานของบรรดาผู้ผลิต คิดค้น และจัดจำหน่ายแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน รวมทั้งเครื่องมืออัจฉริยะอื่นๆ เช่น นาฬิกา ที่สามารถนำมาใช้ตรวจสอบสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกายมนุษย์

แม้จะมีคนคลางแคลงใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านั้นย่อมถูกส่งต่อไปยังเอกชนผู้ผลิตและจำหน่ายโปรแกรม/เครื่องมือ เพื่อประมวลผล “บิ๊กเดต้า” จากผู้ใช้บริการจำนวนมหาศาล

ก่อนแปรเปลี่ยนมันเป็นเทคโนโลยี/สินค้าที่จะกำหนดวิถีชีวิต, แนวทางการบริโภค และรูปแบบการดูแลสุขภาพของพวกเราในอนาคต

หรือพูดอีกอย่าง คือ เมื่อคุณกดปุ่มบันทึก “ข้อมูล” ทางร่างกายของตนเองลงในอุปกรณ์สมาร์ททั้งหลาย สถิติพวกนั้นก็จะไม่ใช่ “ข้อมูลส่วนตัว” ของคุณอีกต่อไป

ทว่าอจนะก็กล่าวอ้างถึงคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง (บางรายนิยามตนเองว่าเป็น “self-tracker”) ที่เลือกจะสะกดรอยร่างกายของตัวเองโดยสมัครใจ เพราะเชื่อว่านี่คือ “ทางเลือก” ใหม่ๆ ในการดูแลรักษาสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการต้องเชื่อฟังหมอ, โรงพยาบาล, หน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทเอกชน

นักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ดิจิตอลชี้ว่านี่คือตัวอย่างของปัจเจกบุคคลที่ตั้งใจจะสอดส่องตรวจสอบร่างกายตนเอง โดยไม่ได้ถูกกดดันจากกระบวนการแปรรูปการให้บริการทางสาธารณสุข หรือการครอบงำของทุน

จะเห็นได้ว่าการเล่นการเมืองกับ “(บิ๊ก) เดต้า” ผ่านกรณีศึกษาเรื่องไบโอเมทริกซ์นั้น มีทิศทางทั้งแบบ “บนลงล่าง” และ “ล่างขึ้นบน”

อำนาจของการเมืองชนิดนี้ทำงานผ่านการสอดส่อง-จ้องมอง-สะกดรอย ทั้งโดยรัฐ-เอกชนผู้มีอำนาจ-กำลังทรัพย์ และโดยปัจเจกชนที่เลือกจะดูแลเรือนร่างส่วนบุคคลของตนอย่างสมัครใจ-ใคร่ครวญมาเป็นอย่างดีแล้ว

“อำนาจ” ในการจัดการ “เดต้า” จึงขึ้นอยู่กับ “การวิเคราะห์-จับจ้อง” ไม่ว่าจะจากมุมมองหรือสายตาของฝ่ายไหนก็ตาม