E-DUANG : พันธมิตร เพื่อไทย ก้าวไกล ข้อเสนอ ในเชิง ยุทธศาสตร์

การแสดงความมั่นใจในความเป็นพันธมิตรใน”แนวร่วม”ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น ความมั่นใจในเชิง”ยุทธศาสตร์”

แท้จริงแล้ว มิได้เป็นเรื่องใหม่ ตรงกันข้าม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยเสนอตั้งแต่ก่อนเดือนพฤษภาคม 2566 มาแล้ว

และก็ประสบกับการคัดค้านระคนการต่อต้านอย่างหนัก

หากสาวลึกไปยังรากฐานอย่างแท้จริง นี่คือผลึกในทางความ คิดของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานตั้งแต่แรกก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ก่อนเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ด้วยซ้ำ

หลายคนอาจจะมองด้วยความแคลงคลางกังขา หากเชื่อมั่นในความเป็นพันธมิตรนี้เหตุใดจึงมีการแข่งขันกับพรรคเพื่อไทย ทำไมไม่เข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทย ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคอนาคตใหม่

ยิ่งมีความแคลงคลางกังขา ยิ่งทำให้สถานะแห่งความคิดจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงอยู่ในจุดอันสะท้อนความคิดในเชิง”ยุทธศาสตร์”อย่างชัดเจน

นั่นก็คือ ในที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจำเป็นต้องร่วมมือกันในลักษณะอันเป็น”พันธมิตร”

 

รากฐานความคิดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นจากการประสบพบเห็นพรรคไทยรักไทยถูกยุบ เกิดขึ้นและยิ่งมีความเชื่อมั่นเมื่อเห็นการยุบพรรคพลังประชาชน

ยิ่งเห็นรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ยิ่งเชื่อมั่น ยิ่งเห็นรัฐ ประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งมากด้วยความมั่นใจการยุบพรรคอนาคตใหม่กลายเป็นคำตอบยืนยันความเชื่อ

เมื่อเห็นคำพิพากษาตัดสิทธิการเมืองของ นส.พรรณิการ์ วานิช ตลอดชีวิต ความเชื่อมั่นของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ยิ่งหนักแน่นและจริงจัง

เป็นความหนักแน่นและจริงจังที่พร้อมจะอธิบายให้ปัญญาชนนักวิชาการระดับ นางสิริพรรณ นักสวน สวัสดี รับรู้ว่า จะไม่ยอมลดข้อบนพื้นฐานแห่ง”การอยู่เป็น”ทางการเมืองแน่นอน

 

บทสรุปของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สอดรับกับบทสรุปของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล สอดรับกับความจัดเจนโดยตรงของ นส.พรรณิการ์ วานิช

ข้อเสนอจึงยิ่งจำหลักหนักแน่นบนฐานแห่ง”ยุทธศาสตร์”

ณ วันนี้ อาจมีเสียงต่อต้านอันมาพร้อมกับการหยามหมิ่นไยไพ ไม่เพียงแต่จะดังกึกก้องมาจากภายในพรรคเพื่อไทย หากแม้กระทั่งในหลายส่วนของพรรคก้าวไกลก็หงุดหงิด

กระนั้น เมื่อผ่านการเลือกตั้งรอบใหม่ที่กำหนดหลังเดือนพฤษภาคม 2570 คำตอบก็จะเริ่มปรากฏตอกย้ำยืนยัน