E-DUANG การต่อสู้ เอาชนะ “นโยบาย” กระบวนการ ดิจิทัล วอลเล็ต

การดำรงอยู่ของโครงการ”ดิจิทัล วอลเล็ต” ณ เบื้องหน้า นส.ศิริกัญญา ตันสกุล โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คอยตอบคำถาม

เป็นการดำรงอยู่อย่างย้อนแย้งยิ่งในทางความคิดและในทาง การเมือง หากมองผ่านชื่อ”ดิจิทัล วอลเล็ต” เป็นเรื่องใหม่

ไม่เพียงโดยรูปคำแห่ง”วอลเล็ต” ไม่เพียงโดยรูปคำแห่ง”ดิจิทัล”อันบ่งบอกยุคอย่างเด่นชัด ยิ่งเติม”บล็อกเชน”เข้าไปด้วยยิ่ง”อลังการ”

กระนั้น เมื่อผ่านการซักถามอย่างถี่ถ้วนจาก นส.ศิริกัญญา ตันสกุล ผ่านการตอบอย่างระมัดระวังจาก นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ก็เริ่มสัมผัสได้ใน”ไส้ใน”ที่ดำรงอยู่ในลักษณะอันต่อเนื่องจาก กระบวนการ”เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” เพียงแต่เมื่อเข้าสู่ยุคแห่งดิจิทัลจึงน่าตื่นตาตื่นใจ

คำถาม คำตอบในระหว่างการดีเบตจึงสัมผัสได้ในความเก่าที่ดำรงอยู่ภายในความใหม่

กลายเป็นการปะทะอย่างมีลักษณะสร้างสรรค์ขึ้นมา

 

ถามว่าจะวัดความใหม่ จะวัดความเก่าจากอะไร หากถือเอาบรรทัดฐานแห่งอายุก็เด่นชัดยิ่งว่าผิดพลาด

ไม่ว่าเมื่อมองไปยังอายุ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ไม่ว่าเมื่อมองอย่างเปรียบเทียบระหว่าง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กับ นส.ศิริกัญญา ตันสกุล

โดยประสบการณ์การทำงาน 2 หมออาจเหนือกว่า

ไม่ว่าประสบการณ์ในทางราชการ ไม่ว่าประสบการณ์ในทางธุรกิจ ไม่ว่าประสบการณ์ในทางการเมือง

เพราะ นส.ศิริกัญญา ตันสกุล ละอ่อนอย่างยิ่ง

กระนั้น เมื่อผ่านการสนทนาในลักษณะอันเป็นสุนทรียะในเชิงปัญญา ความรู้ ก็เด่นชัดว่า นส.ศิริกัญญา ตันสกุล มีความมั่นใจไม่น้อยกว่า

ขณะที่หมอทั้ง 2 ท่านก็อิงแอบอยู่กับ”ยุคสมัยใหม่”เด่นชัด

 

คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมต้องเป็น นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ทำไมต้องเป็น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และทำไมต้องเป็น นส.ศิริกัญ ญา ตันสกุล

เป็นคำถามไปยัง”เพื่อไทย” เป็นคำถามไปยัง”ก้าวไกล”

แน่นอนคำถามแต่ละคำถามยังกระจายไปถึงพรรคภูมิใจไทย ไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ ไปถึงพรรคพลังประชารัฐ ไปถึงพระรวมไทยสร้างชาติ

หรือว่าในที่สุดแล้วการต่อสู้ก็คือ การต่อสู้ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล