เผยแพร่ |
---|
การตัดสินใจของ ลิซ่า มโนบาล รับปากเข้าร่วมการโชว์กับ Crazy Horse แห่งปารีส ถือได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญในชีวิตของศิลปินที่เปิดกว้างในเรื่องของมโนทัศน์
การตัดสินใจนี้ดำรงอยู่บนรากฐาน 1 เห็นความสำคัญแห่ง Crazy Horse 1 เข้าใจความหมายแห่ง”ศิลปะ”ไม่ว่าจะเป็นศิลปะเพื่อศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะเพื่อชีวิต
หากมองจากรากฐานแห่งความเป็นเด็กบุรีรัมย์ ตำน้ำกิน นีย่อมเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ภายหลังจากรับปากเข้ารับการฝึกตัวเพื่อเป็นนักเต้นที่เกาหลีใต้
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จทั้งในฐานะนักร้อง ทั้งในความเป็น นักร้องที่อยู่บนความจัดเจนในการเต้น ทำให้ ลิซ่า มโนบาล ไต่ระดับการทดลองในทางศิลปะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
และที่สุดก็ได้รับการยอมรับจาก Crazy Horse และที่สุดตัวของ ลิซ่า มโนบาล เองก็มีความสุกงอมพร้อมที่จะเข้าร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนในทางศิลปะนั้นๆ
หากมองจากรากฐานแห่งการดำรงอยู่ ไม่ว่าฐานะแห่งศิลปะ ไม่ว่าฐานะแห่งวงที่เธอสังกัดก็จะมีความเข้าใจ
ทั้งหมดแห่งการไต่ระดับล้วนอยู่ในพื้นที่แห่ง”ทุน”
ความรับรู้ของสังคมไทยต่อศิลปะในแบบ Crazy Horse ดำรงอยู่หลายสถานะประสานเข้าด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นระบบของ”หรั่ง เรืองนาม” ไม่ว่าจะเป็น”นางโชว์”
แต่หากเริ่มต้นในแบบวัฒนธรรมตะวันตกผ่านการผลิตซ้ำของภาพยนตร์ก็ต้องเป็นระบำ Can Can อันถือเป็นผลิตภัณฑ์ของฝรั่งเศส ของปารีส
ถูกมองอย่างรังเกียจเหยียดหยามจากคนชั้นสูง กระทำการในลักษณะอันเป็นการลักลอบ ไม่ว่าจะเป็นคาบาเร่ต์ใดในปารีส ไม่ว่าจะเป็นคาบาเร่ต์ใดในนิวออร์ลีน
แต่ศิลปะในแบบ Can Can ก็ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆกระทั่งมาถึงยุคแห่ง Crazy Horse ซึ่งถือได้ว่าเป็นความท้าทายอย่างสูงในบรรดา”นักเต้น”
ยอมรับว่าเป็นการเต้นในท่วงทำนองแบบ”นาฎลักษณ์เริงรำ”
ไมว่าจะมองความเป็น ลิซ่า มโนบาล จากรากฐานใด จากความเป็นเด็กจากบุรีรัมย์ ตำน้ำกิน จากความเป็นลูกครึ่งในยุคแห่งสง ครามเย็น จากการฝึกปรือบ่มเพาะของเกาหลี
ในที่สุด ลิซ่า มโนบาล คือ ผลิตผลแห่ง”ระบอบทุน”
ทั้งที่เป็นทุนในระดับภูมิภาค ทั้งที่เป็นทุนในระดับโลก หล่อหลอมกระทั่งบังเกิดเป็น”ทิพยรูป”ใหม่ กลายเป็นอาวุธอันแหลมคมไม่ว่าจะมองจากโลก ไม่ว่าจะมองจากเกาหลี
นี่ย่อมเป็น”ซอฟต์พาวเวอร์”อันทรงพลานุภาพยิ่ง