E-DUANG : การดำรง ความคิด MOU เบื้องหน้า ชัยชนะ “เพื่อไทย”

ยิ่งพัฒนาการแห่ง”เสียงตั้งต้น”จากกระบวนการร่วมมือระหว่าง พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย มีการต่อยอดอย่างคึกคักมากเพียงใด สิ่งที่เรียกว่า MOU ก็ยิ่งมีความหมาย

ไม่เพียงแต่เป็น MOU เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม หากแต่ยัง เป็น MOU เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม

คนที่มากด้วย”ความจัดเจน”ตั้งแต่ยุคก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 อาจเปล่งเสียงหัวร่อออกมาเพราะเห็นถึงปฏิบัติการฉีก MOU อย่างเด่นชัดต่อหน้าต่อตา

หรือเมื่อเห็นลักษณะที่ท้าทายต่อความศักดิ์สิทธิ์ของ MOU ซึ่งรับรู้อย่างใกล้ชิดก่อนการลงนามที่กำหนดไว้ว่าเป็น 16.00 น.ของวันที่ 22 พฤษภาคม แล้วไม่เป็นไปตามนั้น

หรือเมื่อปะทะเข้ากับปัญหาอันเนื่องจากความไม่ลงตัวในตำแหน่ง”ประธานสภา”จนต้องเกิด MOU ฉบับพิเศษก่อนเห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา

ก็ย่อมรับรู้ในความหมายที่มีอยู่ของ MOU ว่าหาได้ศักดิ์สิทธิ์อย่างที่พรรคก้าวไกลต้องการไม่ เพราะในที่สุด MOU ก็ถูกละเมิดตลอดสองรายทาง

และก็ถูกฉีกทิ้งในคำประกาศเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม

 

คำถามที่พรรคเพื่อไทยจักต้องตอบด้วยตนเองก็คือ แท้จริงแล้ว แม้ MOU ที่มีจุดเริ่มเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม มิได้ดำรงอยู่แล้วในทางกายภาพ

กระนั้น ปฏิบัติการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมยังเหลือสิ่งที่เรียกว่า MOU อยู่อีกหรือไม่

ในทาง”กายภาพ”อาจไม่มีแล้ว แต่ในทาง”จิตวิญญาณ”ก็ยังดำรงคงอยู่และตามมาหลอกหลอนต่อการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยอย่างไม่เสื่อมคลาย

ขณะเดียวกัน ก็นำไปสู่อีกคำถามตามมาโดยอัตโนมัติว่า ข้อ เสนอในลักษณะอันเป็น”เงื่อนไข”จากพรรคภูมิใจไทยอันพรรคเพื่อไทยเต็มใจในการปฏิบัติจะถือว่าเป็น MOU หรือไม่

ยิ่งกว่านั้น เงื่อนไขในลักษณาการเดียวกันนี้ก็ยังตามมาไม่ว่าจะโดยพรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม

 

ผลสะเทือนจากการฉีก MOU เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม และการเริ่มต้น MOU เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ก็แทบไม่แตกต่างไปจากปรา กฎการณ์”เสียงปืนแตก”ในทางการเมือง

ไม่ว่าจะมองผ่าน”ทะลุวัง” ไม่ว่าจะมองผ่าน”คนเสื้อแดง”

ไม่ว่าจะมองผ่านการรื้อฟื้นปฏิบัติการ”ไล่หนู ตีงูเห่า” ไม่ว่าจะมองผ่านคำขวัญว่าด้วย”ปิดสวิตช์ สว. ปิดสวิตช์ 3 ป.”ที่ตามมาหลอกหลอนวันแล้ววันเล่า

ทำให้ทั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ทำให้ทั้ง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการ ต้องตอบคำถามรายวัน

นี่มิใช่เพราะผลสะเทือนจาก MOU หรอกหรือ