E-DUANG ; ศึกษา บทเรียน จากหลังม้า ศึกษา บทเรียน จากหลังเสือ

ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายทหารแห่งกองทัพภาคที่ 2 มี บทสรุปจากความจัดเจนในการขี่ม้า

อาจเพราะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็น”ทหารม้า”

นั่นก็คือ บทสรุปที่ว่า คนมักขึ้นหลังม้าจาก “ฝั่งซ้าย” แต่เมื่อ ตกจากหลังม้ามักตกทาง “ฝั่งขวา”

นี่อาจเป็นสภาพทั่วไปของการอยู่บนหลังม้า

แต่หากดูบทเรียนในทางประวัติศาสตร์ “การเมือง” ผู้คนมักเริ่มต้นประสบความสำเร็จในทางการเมืองจากอีกฝั่งหนึ่ง แต่เมื่อต้องล้มเหลวทางการเมืองก็มักจะมาจากอีกฝั่งหนึ่ง

นั่นก็คือ ขึ้นจาก “ฝั่งซ้าย” แต่ตอนตกจากอำนาจก็มักจะตกทาง “ฝั่งขวา”

การลงจาก”หลังม้า”จึงยากพอๆกับลงจาก”หลังเสือ”

 

ตอนที่ จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นบนหลังเสือเมื่อเดือนธันวาคม 2506 มากด้วยความคึกคัก มากด้วยความมั่นใจ

จากนั้นไม่นาน ก็ใช้”มาตรา 17″

ยึดทรัพย์สินจากกองมรดก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โทษฐาน เบียดบังเงินของแผ่นดินจำนวนมหาศาล

แต่ตอนตกจากอำนาจในเดือนตุลาคม 2516

จอมพลถนอม กิตติขจร มิได้ตกอย่างธรรมดา หากแต่ถูกขับไล่ ต้องเดินทางออกนอกประเทศเป็นการตกพร้อมกับตราบาป”ทรราช”

เป็นการตกโดยหลังจากนั้นไม่นานรัฐบาล นายสัญญา ธรรม ศักดิ์ ก็ใช้”อำนาจพิเศษ” ยึดทรัพย์สินของ จอมพลถนอม กิตติขจร คืนกลับแผ่นดิน

เป็นชะตากรรมเดียวกันกับของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร

การลงจาก”อำนาจ”จึงเหมือนๆกับการลงจาก”หลังเสือ

 

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถือได้ว่าเป็นนายทหารที่สามารถก้าวลง จากหลังม้าได้อย่างสมศักดิ์ศรีของ “ทหารม้า”

นั่นก็คือ ไม่ได้ตก แต่อำลาจากไปตามเวลาอันเหมาะสม

จากเดือนสิงหาคม 2531 ตราบกระทั่งผ่านรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 หรือรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ยังรักษาสถานะอันโดดเด่นของตนเอาไว้ได้

คำว่า “ผมพอแล้ว” จึงทรงความหมายเป็นอย่างสูง