​​​​E-DUANG : วิกาล ยาวนาน ฝันยุ่งเหยิง เตียงเดียวกัน “ฝัน”ต่างกัน

หลายปีก่อนเคยอ่านนวนิยายขนาดสั้นของ เอ.เค.อับบาส นักประ พันธ์ชาวภารตะในยุคต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชาติจากการยึดครองของอังกฤษ เขาพูดถึง 1 ฮินดู 1 มุสลิม

มีความแตกต่างอย่างแน่นอนในเรื่องความเชื่อทางศาสนา แต่มีจุดร่วมคือ ล้วนต้องการเอกราช ต้องการหลุดพ้นจากการยึด ครองของอังกฤษ

บทสรุปของ เอ.เค.อับบาส ต่อชาวภารตะ 2 คนนี้คือ

“นอนเตียงเดียวกัน แต่ฝันคนละเรื่อง”

จำได้จับใจ ยิ่งมาปะเข้ากับความรู้สึก “ร่วม”ของคสช.และของนักการเมืองทั้งหลาย ยิ่งบังเกิดความเข้าใจ

เพราะล้วนต้องการ”การเลือกตั้ง”

 

กระนั้น ภายในความต้องการ”การเลือกตั้ง”ระหว่างคสช.กับนักการเมืองกลับมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน

คสช.คิดอย่างหนึ่ง นักการเมืองคิดอย่างหนึ่ง

คสช.คิดว่า กระบวนการของ”การเลือกตั้ง”จะสร้างความชอบธรรมให้กับการสืบทอดอำนาจ เสียงตำหนิในเรื่อง”เผด็จการ” จะจางหายไป

ขณะเดียวกัน กล่าวสำหรับ “นักการเมือง” คิดว่าหากว่าเข้าสู่โหมดของ”การเลือกตั้ง” นั่นย่อมเป็นมิติใหม่ในทางการเมือง ทำให้โอกาสในทางการเมืองเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้ในที่สุดด้วยกฎกติกาภายใต้”รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560”โอกาสเปิดกว้างให้กับคสช.มากกว่าแต่”อำนาจ”ของ”คสช.”ก็ย่อมจะไม่เหมือนเดิม

ตรงนี้แหละคือบทพิสูจน์ที่ว่า คสช.และนักการเมืองแม้จะนอนเตียงเดียวกัน แต่ก็ฝันกันคนละเรื่อง

 

จากเรื่องของ เอ.เค.อับบาส อันเป็นชาวชมภูทวีป มาถึงเรื่องของโกวเล้งอันเป็นชาวจีน ก็ประสบเข้ากับอีกมิติหนึ่งของความฝัน นั่นก็คือ สิ่งที่โกวเล้งชมชอบอ้างอิง

“วิกาลยาวนาน ฝันยุ่งเหยิง”

เมื่อนึกถึง เอ.เค.อับบาส โกวเล้งก็นึกมายังสังคมไทย

สังคมที่มี”การเลือกตั้ง”เป็นความต้องการ”ร่วม”