E-DUANG : “ภูมิทัศน์” การเมืองกับ “รัฐประหาร”

ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป้าหมายล้วนต้องการเปลี่ยน”ภูมิทัศน์”ในทางการเมือง

พูดให้ตรงอย่างที่สุดก็คือ เปลี่ยนภูมิทัศน์ในทางการเมืองจากที่เคยดำรงอยู่จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็เพื่อเป้าหมายหมายนี้

แต่เมื่อผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ภูมิทัศน์ใน ทางการเมืองก็ยังเหมือนเดิม

ยิ่งเมื่อผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ยิ่งชัด

จึงจำเป็นต้องก่อรูป”กปปส.”เหมือนกับที่เคยก่อรูป”พันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”แล้วก็รัฐประหารอีกในปี 2557

จึงได้เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ขึ้น

 

ถามว่า “ภูมิทัศน์”ซึ่งเป็นหนามยอกอกจำเป็นต้องก่อรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าคืออะไร

คำตอบ 1 คือ ชัยชนะของ”ไทยรักไทย”

เป็นชัยชนะจากเดือนมกราคม 2544 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2548

ต่อเนื่องมายังเดือนธันวาคม 2550 เดือนกรกฎาคม 2554

เป็นชัยชนะที่ไม่ว่าจะใช้ชื่อ ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ก็สามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ บางส่วนในภาคกลาง กทม.

ส่วนรองเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ กทม.บางส่วนในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พรรคที่เหลือก็กลายเป็นระดับ”จังหวัด”

พรรคชาติไทยพัฒนา สุพรรณบุรีและปริมณฑล พรรคภูมิใจไทย บุรีรัมย์และปริมณฑล พรรคชาติพัฒนา เขต 1 นครราชสีมา พรรคพลังชล ชลบุรีและบางส่วน

ความเป็นจริงนี้สัมผัสได้ตั้งแต่ปี 2544 มาแล้ว

 

หากไปศึกษา ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อทลายห้าง

ความหมายก็คือ พรรคเพื่อไทย

ตราบใดที่ “พรรคคสช.”ยังไม่มั่นใจ ตราบนั้น การเลือกตั้งก็ยื้อ ถ่วง หน่วงและเลื่อนไปเรื่อยๆ เหมือนที่เกิดขึ้นกับบรรดา”ปฏิ ญญา”ทั้งหลายจาก 2558 จนถึง 2560

มั่นใจเมื่อใด เมื่อเอยก็เมื่อนั้น