E-DUANG : ปฏิมาแห่ง “พิน็อกคิโอ” และ “เด็กเลี้ยงแกะ”

การปรากฏขึ้นของภาพบางภาพ คือ การประสานระหว่าง 2 องค์ประกอบสำคัญ

นั่นคือ ระหว่าง 1 นามธรรม กับ 1 รูปธรรม

ทำไมภาพของ “พิน็อกคิโอ” จึงจำหลักหนักแน่น ทำไมภาพของ “เด็กเลี้ยงแกะ”จึงจำหลักหนักแน่น

อาจเพราะว่ามาจาก “ภาพยนต์”

อาจเพราะว่ามาจาก “นิทาน”

แต่ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นก็คือ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์ ไม่ว่าจะเป็นนิทาน ดำเนินไปในลักษณะอันเป็น “ปฏิมา” เป็นตัวแทนในทางความคิด

นั่นก็คือ แปร “จินตภาพ” ให้ปรากฏอย่าง”แตะต้อง”ได้

 

ถามว่าจินตภาพอันกลายมาเป็นปฏิมาแห่ง”พิน็อกคิโอ”หรือ”เด็ก

เลี้ยงแกะ” คืออะไร

คำตอบก็คือ เป็นปฏิมาของการโกหก หลอกลวง

กรณีของ “พิน็อกคิโอ” สะท้อนในลักษณะของการลงทัณฑ์ นั่นคือ ทุกครั้งที่โกหก หลอกลวง จมูกก็จะยื่นยาวให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณะ

เท่ากับเป็นการประจาน

กรณีของ “เด็กเลี้ยงแกะ” สะท้อนในลักษณะของการลงทัณฑ์จากความต่อเนื่องของพฤติกรรม

นั่นก็คือ เมื่อคนเห็นว่าโกหก หลอกลวง คนก็ไม่เชื่อถือ

จึงอาจกล่าวได้ว่าการลงทัณฑ์ต่อ”พิน็อกคิโอ”หรือต่อ”เด็กเลี้ยงแกะ” เป็นกระบวนการลงทัณฑ์ในทางสังคม

เป็นความเห็นร่วมกันของสังคม

 

ใครก็ตามที่ถูกสังคมมองว่าเป็น “พิน็อกคิโอ” เป็น”เด็กเลี้ยงแกะ”จึงมิใช่อยู่ๆจะชี้นิ้วลงทัณฑ์ได้

ตรงกันข้าม ตัวของคนๆนั้นแหละจะกำหนด

พฤติกรรม หรือ การกระทำของคนๆนั้นแหละที่จะสร้างความรู้สึกให้เกิดขึ้นว่าเป็นเหมือน “พิน็อกคิโอ” ว่าเป็นเหมือนกับ

“เด็กเลี้ยงแกะ”

เมื่อสังคมตราหน้าคนๆนั้นว่าเป็น”พิน็อกคิโอ” หรือว่าเป็นเช่น กับ “เด็กเลี้ยงแกะ”แล้ว ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเลือนหายสลายไปอย่างง่ายดาย

อำนาจใดก็ไม่อาจทำให้ผู้คนคิดเห็นเป็นอื่นไปได้