E-DUANG : “คสช.” ในกระแส “ยื้อ” เลือกตั้ง

ทั้งๆที่กระบวนการ Start Up อันเริ่มจากบริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน มีคนเข้าร่วมเพียง “หลักร้อย”

ถูกสบประมาทจาก “คสช.”ว่า เป็นกลุ่ม”หน้าเดิม”

สื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ อย่างโทรทัศน์ ก็แทบไม่ให้ ความสนใจ

แล้วเหตุใดต้องมีการประชุม”คสช.”

พร้อมกับข้อกำชับจากหัวหน้าคสช. จากนั้น จึงเกิดการเคลื่อนไหวในฝ่ายปฏิบัติการข่าว หรือ IO อย่างคึกคักเพื่อตอบโต้และชี้แจง

มีความวิตก มีความกังวลมาจาก “คสช.”เกรงว่าอาจเป็นการ

Start Up รวมพล”คนอยากเลือกตั้ง”

ทำไม

 

ความวิตก ความกังวลอันมาจาก”คสช.”เพราะเป็นการมองด้วยสายตาของทหารประสานเข้ากับการเมือง

มองเห็นลักษณะในทาง “ยุทธศาสตร์”

เพราะการเสนอคำขวัญ “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง”อ่อนไหวเป็นอย่างยิ่งในทางการเมือง

เท่ากับเป็นการชี้เป้าไปยัง”คสช.”

เพราะว่าสังคมประเทศไทยว่างเว้นจาก”การเลือกตั้ง”มาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว

ครั้งล่าสุด คือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557

แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งอันแหลมคมยิ่ง เพราะมี”กลุ่มคนไม่อยากเลือกตั้ง”ออกมาสกัดขัดขวางจนเป็นการเลือกตั้งที่ล้มเหลว

เป็นใคร กลุ่มใด คนกทม.และคนใต้รู้อยู่เป็นอย่างดี

ในเมื่อ”การเลือกตั้ง”มาอยู่ในความรับผิดชอบของ”คสช.”แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มี “การเลือกตั้ง”

ความรับผิดชอบจึงตกบนบ่าของ “คสช.”

 

กล่าวในทาง”ยุทธศาสตร์” เรื่องของการเลือกตั้ง “คสช.”อยู่ในฐานะ เป็นฝ่าย “ตั้งรับ”

เพราะถูกกวาดรวมไปอยู่คน”ยื่อ”คน”ถ่วง”หน่วงเลือกตั้ง

ความชอบธรรมในทางการเมืองจึงกลายเป็นของฝ่าย”รวมพลคนอยากเลือกตั้ง”

      ในระยะยาวย่อมไม่เป็นผลดีต่อ”คสช.”แน่นอน