E-DUANG : “อาการ” ทางการเมืองของ “คสช.”

ไม่ต้องนักบริหารองค์กรระดับ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ไม่ต้องนักการตลาดระดับ ปีเตอร์ ค็อตเลอร์

เมื่อทอดตามองไปยัง “คสช.” ก็มองออก

อาการนับแต่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน

2560 นั้นหนัก

หนักไม่เพียงเพราะเป็นรัฐมนตรี”ทหาร”มาด้วยกันตั้งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557

หากแต่หนักเพราะเท่ากับแข็งขืนต่อ “มาตรา 44”

นับแต่นั้นเป็นต้นมาการส่งท้ายปีเก่า 2560 การต้อนรับปีใหม่ 2561 ของ “คสช.”ก็เต็มไปด้วยความทุลักทุเล

โดยเฉพาะเมื่อได้รับ “ส.ค.ส.” ว่าด้วย “กองหนุน”

 

ความจริง การคาดหมาย “อาการ” ทำนองนี้อาจสัมผัสได้ตั้งแต่ นายอานันท์ ปันยารชุน เคยหลุดคำพูด

หลังเดือนตุลาคม 2560 ตัวใครตัวมัน

ทุกคนล้วนรับรู้ร่วมกันในบทบาทและความหมายของเดือน ตุลาคม 2560

เหมือนๆกับที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เคยยืนยัน

การเลื่อนการเลือกตั้งจากปี 2561 ผู้คนอาจรับได้ แต่ถ้าหากไม่มีการเลือกตั้งภายในปี 2562 ก็ “ตัวใครตัวมัน”

ไม่ว่า นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล

สังคมรับรู้ได้เป็นอย่างดีว่าผ่านร้อนหนาวทางการเมืองมามากน้อยเพียงใด มีความสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆในทางการเมืองสลับซับซ้อนเพียงใด

เหตุใดจึงงัดเอาคำว่า “ตัวใคร มันมัน” มาใช้

 

หากคสช.เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวาระ ฟิลิป ค็อตเลอร์ คงตอบได้ด้วยสายตาของ “นักการตลาด”

เช่นเดียวกับหาก ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ฟื้นคืนชีพ

ก็คงจะพอสัมผัสได้ว่า บรรยากาศในทางการเมืองน่าจะร้อน แรงมากยิ่งกว่าที่เห็นและเป็นอยู่หลายพันเท่า

โดยเฉพาะกรณีของ “นาฬิกา” หรู

แต่นี่คสช.มีรากฐานมาจาก”รัฐประหาร”จึงดำเนินไปอย่างมีลักษณะพิเศษที่มากด้วยความทนทาน

แต่ “อาการ”ก็เหนื่อยอย่างชนิด “ลิ้นห้อย”