E-DUANG : ก้าวไกล ในวิถี รัฐสวัสดิการ เสียงขานรับ จาก”คนสูงวัย”

เหมือนกับภาพลักษณ์ของพรรคก้าวไกลอันต่อเนื่องมาแต่พรรคอนาคตใหม่ ต่อเนื่องมาแต่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล นส.พรรณิการ์ วานิช

คือภาพลักษณ์อันสัมพันธ์กับ”คนรุ่นใหม่” สัมพันธ์กับ”คนเมือง” สัมพันธ์กับ”นิวโหวตเตอร์”แนบแน่นเห็นได้จากปรากฏการณ์”ฟ้ารักพ่อ”ในโลก”โซเชียล”

เห็นได้จากการเน้นไปยังความสดใหม่ของนักการเมืองในแบบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ความสดใสในแบบของ นส.ศิริกัญญา ตันสกุล และ นายรังสิมันต์ โรม

อาจเป็นเช่นนั้นในเบื้องต้นแต่ภายหลังจากที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นำ”คณะก้าวหน้า”เข้าไปสู่พื้นที่ของการเลือกตั้งในระดับ”ท้องถิ่น”

เช่นเดียวกับ พรรคก้าวไกลเริ่มจัดตั้งสถาบันนโยบายเพื่ออนาคตนอกเหนือจากงานในความรับผิดชอบของ นส.ศิริกัญญา ตันสกุล และมี นายเดชรัต สุขกำเนิด เข้ามาเป็นกำลัง

แม้โดยภาพแห่งการนำเสนอจะยังมีบทบาทของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เล่นบทผู้จัดการ”แคมเปญ”อยู่

แต่เป้าหมายเริ่มขยายไปยังคนรุ่น”อาวุโส”และ”ชนบท”

 

คนที่ยังติดกับภาพเจนตาของพรรคอนาคตใหม่ในอดีต และภาพของพรรคก้าวไกลในเบื้องต้น อาจรู้สึกแปลกใจเมื่อได้รับคำยืนยัน จาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในเรื่อง”รัฐสวัสดิการ”

แท้จริงแล้ว คำว่า”รัฐสวัสดิการ”มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นหากแต่จำหลักตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่แล้วเพียงแต่ยังมี”ประเด็น”อื่นที่ร้อนแรงกว่ามา”บดบัง”

เมื่อผ่านประสบการณ์จากการเมือง”ท้องถิ่น” เมื่อปักหลักมั่นคงในฐานะพรรคการเมืองและผ่านการต่อสู้ในสภามาจนครบวาระ 4 ปีจึงมีความมั่นใจ

เป็นความมั่นใจในการชูประเด็น”รัฐสวัสดิการ”อันเป็นเครื่อง หมายของพรรคในแบบ”สังคมประชาธิปไตย” และก็ค่อยๆนำเอาที่ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ กำหนดจาก”ครรภ์ถึงเชิงตะกอน”เข้ามา

พรรคก้าวไกลจึงสดใสอยู่ในท่ามกลางผู้สูงอายุโดยพลัน

 

การเน้นถึงอัตรา”เบี้ยยังชีพ”เดือนละ 3,000 บาทอาจได้ยินจากแทบทุกพรรคการเมือง แต่ความแหลมคมอยู่ตรงที่รูปธรรมในการ นำเสนอพรรคใดเป็นระบบมากที่สุดนี่ย่อมเป็นจุดท้าทายต่อพรรคก้าวไกลอย่างแหลมคมยิ่ง

ไม่ว่าจะนำไปไปโดย แก้วตาที่พื้นที่สาทร ไม่ว่าจะนำไปโดย ต่าย อรทัย ในชนบทแห่งชัยภูมิ ไม่ว่าจะนำไปโดยพี่ท็อป ณัฐพลแห่งเชียงใหม่

ประสานเข้ากับเสียงของ เอก ธนาธร และ ทิม พิธา