E-DUANG : ถวิลหา อาวรณ์ อารมณ์ร่วมยุค บทเพลง “รางวัลแด่คนช่างฝัน”

บทเพลง”รางวัลแด่คนช่างฝัน”อันกระหึ่มขึ้นในร้าน”สุราก้าวหน้า”ของ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สะท้อนอารมณ์แห่ง”ยุคสมัย”ได้อย่างเด่นชัด

เหมือนกับเป็นยุคสมัยแห่ง”สมรสเท่าเทียม” เหมือนกับเป็นยุคสมัยแห่ง”สุราก้าวหน้า”

ขณะเดียวกัน ยังแฝงถึงกระแสแห่ง”การปฏิรูปกองทัพ”

ความน่าสนใจมิได้อยู่ที่คนซึ่งร้องเป็นใคร เป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็น นายชัยธวัช ตุลาธน

คนแรกเป็นประธานคณะก้าวหน้า คนต่อมาเป็นเลขาธิการ คณะก้าวหน้า คนต่อมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล คนต่อมาเป็น เลขาธิการพรรคก้าวไกล

ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่เป็นคนร่วมลงเสาเข็มให้กับพรรคอนาคตใหม่ หากแต่ยังมีส่วนสำคัญทั้งในทางความคิด ในทางการ เมืองให้กับพรรคอนาคตใหม่

คำถามจึงมิได้อยู่ที่ว่าทำไมทั้ง 4 คนนี้ถึงได้มาร้องเพลงเดียวกันด้วยความคึกคัก ห้าวหาญ

หากยังอยู่ที่ว่าทำไมต้องเป็นเพลง”รางวัลแด่คนช่างฝัน”

 

เมื่อเป็น”ความฝัน”ย่อมมีคนจำนวนไม่น้อยนึกไปถึงแต่ละถ้อยคำอันเคยปรากฏผ่านหนังสือ”ชีวิตและความใฝ่ฝัน”อันมาพร้อมกับการตั้งคำถามถึง “นักฝันของเราอยู่ที่ไหน”

เป็นคำถามของ บรรจง บรรเจิดศิลป์ เป็นคำถามอันดังกระหึ่มขึ้นในกลางทศวรรษที่ 2490

ขณะเดียวกัน เมื่อเป็นบทเพลง”รางวัลแด่คนช่างฝัน”ก็ก่อให้เกิดนัยประหวัดไปยัง จรัล มโนเพ็ชร์ เจ้าของเสียงร้อง เจ้าของบทเพลงด้วยความถวิลหาอาวรณ์

ในเมื่อบทเพลงนี้เกิดขึ้นหลังสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2519 ที่สังคมไทยก็ถามหา”นักฝันของเราอยู่ที่ไหน”

ความน่าสนใจก็ตรงที่คำถามของ บรรจง บรรเจิดศิลป์ คำถามของ จรัล มโนเพ็ชร์ ได้เข้ามาอยู่ในสำนึกและความเรียกร้องต้องการของคนรุ่นใหม่ในยุคหลังรัฐประหาร 2557

 

บทเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร์ สะท้อนอารมณ์แห่งยุคสมัยจากห้วง หลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2519 มายังห้วงหลังรัฐประหารเดือน พฤษภาคม 2557

ผ่านคนของ”คณะก้าวหน้า” ผ่านคนของ”พรรคก้าวไกล”ป็นการเชื่อมร้อยบรรยากาศในแบบหลังรัฐประหาร 2490 ก็ยังดำรงอยู่ในห้วงหลังรัฐประหาร 2557

บทเพลง”รางวัลแด่คนช่างฝัน”จึงสอดรับกับสถานการณ์