E-DUANG : บทเรียน #ทานตะวันแบม ประสบการณ์ “ทนายด่าง”

การดำรงอยู่ของ “ทนายด่าง” ในสถานการณ์แห่ง#ทานตะวันแบม เป็นการดำรงอยู่ในท่ามกลางแสงแห่งสปอตไลต์

นอกจากพ่อแม่”ทานตะวัน”และ”แบม”แล้ว

ก็ต้องยอมรับว่า “ทนายด่าง” เป็นคนที่เข้าถึงข้อมูลของ”ทานตะวัน”และ”แบม”อย่างที่เรียกกันว่าเป็นข้อมูลในแบบ”ปฐม ภูมิ”

ไม่ว่าจะโดยทนายความซึ่งเป็น”ลูกสาว” ไม่ว่าจะโดยการเข้าพบและรับฟังโดยตรงการแถลงของ”ทนายด่าง”จึงดำเนินไปในลักษณะ”โฆษก”

ขณะที่สถานะของ”ทนายด่าง”ก็มิได้เป็นทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายเท่านั้น ตรงกันข้าม ภายในการดำรงอยู่ของ”ทนายด่าง”เองก็มากด้วยความโลดโผน

เป็นความโลดโผนอย่างเงียบ ตั้งแต่ยังนุ่งกางเกงขาสั้นเรียนอยู่สวนกุหลาบวิทยาลัย กระทั่งเอนทรานซ์เข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนื่องจากเติบโตมาในสถานการณ์ก่อนเดือนตุลาคม 2516 และมีประสบการณ์ตรงกับสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519

จึงรับรู้กับสภาพพลิกผันแปรเปลี่ยนโดยตนชัดเจน แจ่มแจ้ง

 

โดยบุคลิก”ทนายด่าง”เป็นคนเงียบๆ แม้จะเข้าเรียนสวนกุหลาบรุ่นเดียวกับ ธงชัย วินิจจะกูล แต่ก็มักจะดำรงอยู่”แถวสอง”มากกว่าจะเป็น”แนวหน้า”

เห็นได้จากเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เสมอเป็นเพียงสมาชิกสภานักศึกษา

มิได้ดำรงอยู่ในตำแหน่ง”ประธาน”เหมือน ธงชัย วินิจจะกูล

เพียงแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519 “ทนายด่าง”ในฐานะมวลชนคนหนึ่งจึงมิได้ยืนอยู่แถวหน้าแบบ ธงชัย วินิจจะกูล หรือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

“ทนายด่าง”ทั้งมิได้ต้องต่อสู้คดีในแบบ ธงชัย วินิจจะกูล และมิได้”เข้าป่า”เหมือนเพื่อนนักศึกษาคนอื่นๆ หากแต่ดำรงอยู่ในสถานะของนักศึกษาต่อไป

สถานการณ์อีกเหมือนกันทำให้ต้องเป็น”นายกองค์การ”

 

จากการเป็นเด็กนักเรียนของสวนกุหลาบวิทยาลัยกระทั่งเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519

“ทนายด่าง”จึงดำรงอยู่อย่างเป็น”นักสังเกตการณ์”

แม้กระทั่งเมื่อเรียบจบได้เป็นนิติศาสตรบัณฑิตดำเนินอาชีพเป็นทนายความก็เป็นไปตามอาชีวปฏิญาณกระทั่งเข้ามาเป็นส่วน หนึ่งของทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ประสบการณ์ข#ทานตะวันแบมจึงใกล้เคียงกับ”ทนายด่าง”