E-DUANG : วันเด็ก ที่เปลี่ยนไป ในปี 2566 วันเด็ก ในยุค “ทรงอย่างแบด”

การปรากฏขึ้นของคำขวัญวันเด็ก”เรียนอย่าแบด แซดอย่าบ่อย สู้ อย่าถอย ค่อยๆสร้างพลังใจ”จาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นปรากฏการณ์อันสามารถเข้าใจได้

ไม่เพียงแต่สอดรับกับความนิยมซึ่ง Paper Planes ส่งผลสะเทือนผ่าน “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย”

หากแต่ยังสอดรับกับ”ความเป็นจริง”ที่ดำรงอยู่ใน”สังคม”

นั่นก็คือ การสำแดงตัวของเยาวรุ่นที่เรียกว่า”โบว์ขาว”ประสานกับการเคลื่อนไหวของ”นักเรียนเลว”ที่มาพร้อมกับ”เยาวชนปลดแอก”เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

พลันที่การเคลื่อนไหวโดย”เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนกรกฎาคม ตกไปอยู่ในมือ”แนวร่วมธรรม ศาสตร์และการชุมนุม”ในเดือนสิงหาคม ทุกอย่างก็เปรี้ยงปร้าง

เป็นความเปรี้ยงปร้างซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกิดคลื่นแห่งคนรุ่นใหม่ออกจากสถานศึกษาเข้าไปรวมตัวกัน ไม่ว่าแยกปทุมวัน ไม่ว่าแยกราชประสงค์ ไม่ว่าแยกลาดพร้าว

กลายเป็นปรากฏการณ์”ทะลุ”อันเคลื่อนเข้าปะทะกับ”คนรุ่น เก่า”อย่างดุเดือด รุนแรง

และที่สุดก็นำไปสู่กังวานเสียงแห่ง”ทรงอย่างแบด”ขึ้นมา

 

วันเด็กในเดือนมกราคม 2566 จึงเป็นเวทีแห่งการประชันในทางความคิดและการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะที่กรุงเทพมหานคร

มองเห็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มองเห็นภาพ นายชวน หลีกภัย มองเห็นภาพ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

การเปิดทำเนียบรัฐบาลให้เด็กๆได้ไปทัศนศึกษาและทดลองนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรียังมีอยู่ การจัดนิทรรศการโชว์อาวุธ โชว์รถถัง โชว์เครื่องบินโดยกองทัพยังมีอยู่

คำขวัญอันเป็นเงาสะท้อนนายกรัฐมนตรี เงาสะท้อนประธานรัฐสภายังมีให้อ่าน แต่ก็ปรากฏคำขวัญในแบบของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาวางเรียงอยู่เคียงข้าง

อย่าได้แปลกใจหากกระหึ่มแห่งเสียงร้อง”ทรงอย่างแบด”จะกึกก้องมาจากความสนุกครึกครื้นของบรรดาเด็กๆ

 

มองจากภาพการเคลื่อนไหวใน”วันเด็ก”ไปยังภาพแห่งการเคลื่อน ไหวในทางการเมือง เตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งซึ่งจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ภาพการปะทะระหว่าง”เก่า”กับ”ใหม่”ก็นำเสนอครบถ้วน

การปราศรัยของระดับวีไอพีแห่งพรรครวมไทย สร้างชาติ ไม่การอภิปรายของพรรคก้าวไกลในที่ประชุมรัฐสภา

ล้วนอยู่ในสายตา”สังคม” ล้วนอยู่ในความรับรู้ของ”เด็ก”