E-DUANG : กลยุทธ์ ยั่ว ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านกลเกม สถานการณ์ สภาล่ม

สถานการณ์ “สภาล่ม” คือเกมเขย่าขวัญ สั่นประสาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันนับวันจะเร่งเร้าและรุนแรง

เหมือนกับจะเป็นการนำเสนอมาจากเพื่อไทย ก้าวไกล

ทั้งๆที่ในความเป็นจริงคือการคิดประดิษฐ์สร้างอย่างแยบยลยิ่งจาก”ภายใน”ของพรรคร่วมรัฐบาล

กลในเหล่านี้เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้อยู่แก่ใจ

ขณะเดียวกัน ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ย่อมเคยปรารภในเชิงหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุ วรรณ มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง

กระนั้น ในห้วงของเดือนธันวาคม เกม”สภาล่ม”ก็ยังมีการงัดมานำเสนออย่างต่อเนื่องและด้วยความถี่ยิบอย่างเป็นพิเศษ ก่อให้ เกิดความปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นอย่างสูงในทำเนียบรัฐบาล

ในเบื้องต้นสายตาย่อมมองไปยัง”ประธานวิปรัฐบาล”คนใหม่

แต่เมื่อเห็นดวงตาอันท้อแท้และสิ้นหวังฉายชัดออกมาก็ต้องยอมรับในความอับจนและสิ้นหนทางแก้ไข

รอคอยแต่ว่าจะก่อให้เกิด”สภาล่ม”ไปอีกนานเท่าใด

 

ต้องยอมรับว่ากลเกมอันก่อให้เกิด”สภาล่ม”เป็นการเอาคืนจากกระ บวนการรุกไล่ในทางการเมืองอันเริ่มจากปฏิบัติการ”ปลดรัฐมนตรี”เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564

ตามมาด้วยการพักการปฏิบัติงานของ นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ อันทำให้ตำแหน่ง”ประธานวิปรัฐบาล”ต้องหลุดไปด้วย

และตำแหน่งนี้ตกมาอยู่ในมือของ นายนิโรธ สุนทรเลขา

ร่ำลือกันว่าเป็นสายตรงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และแนบแน่นอย่างเป็นพิเศษอยู่กับเหล่า”6 รัฐมนตรี”ของพรรคพลังประ ชารัฐที่เคยตบเท้าเข้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม

เพียงเท่านี้ก็อ่านเกมออกว่านี่คือการประลองพลังระหว่างใคร 

กับใครที่ต่อสู้กันอยู่ภายในพรรคพลังประชารัฐ

 

กลยุทธ์”สภาล่ม”เป็นการเคลื่อนไหวเปิดเกมในลักษณะสะสมทาง ปริมาณ เพื่อก่อให้เกิดความหงุดหงิดระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับสมาชิกรัฐสภา

เป็นกลยุทธ์ในแบบยั่วยุที่มิได้มีการแตกหักโดยตนเอง

เพราะตามรัฐธรรมนูญแล้วคนมีอำนาจในการยุบสภาคือนายก รัฐมนตรี คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น

จึงเท่ากับเป็นการยั่วยุ จนกว่าจะหมดความอดทนในที่สุด