E-DUANG : จากสถานการณ์ 14 ต.ค.16 มายังสถานการณ์ 6 ต.ค.19

ทั้งๆที่ความเป็นจริงของสถานการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับ สถาน การณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีความสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างแนบแน่น มิอาจแยกออกจากกันได้

แต่ท่าทีของสังคมต่อความเป็นไปและความต่อเนื่องแห่งวันที่ 14 ตุลาคม 2516 กับวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แตกต่างกัน

อาจเพราะวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถือเป็นวันแห่งชัยชนะ

นั่นก็คือ พลังแห่งมวลมหาประชาชนที่เดินตามกันบนถนนราชดำเนินสามารถก่อผลสะเทือนทำให้อำนาจทางการเมืองของกลุ่ม”ถนอม ประภาส ณรงค์”จบสิ้นลง

ตรงกันข้าม สถานการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือความ พ่ายแพ้ เป็นความสูญเสีย ไม่เพียงแต่ชีวิตของประชาชน หากแต่ ยังสูญเสียประชาธิปไตยซึ่งได้มา

นั่นก็คือ การเข้ามาของรัฐประหาร การเข้ามาของการจัดสรรและวางอำนาจในทางการเมืองที่แม้จะเริ่มต้นจาก นายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ในที่สุดก็เป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ได้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งระบอบประชา ธิปไตย”ครึ่งใบ”

แล้วกลายเป็น”แรงบันดาลใจ”ให้กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

 

หากมองจากท่าทีของ”อำนาจรัฐ”ที่ยึดครองอำนาจต่อการดำรงอยู่ของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 กับของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็มี ความแตกต่างกัน

การดำรงอยู่ของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ดำเนินไปอย่างได้รับ การยอมรับ ไม่ว่าในเบื้องต้นหรือในปัจจุบัน

แตกต่างไปจากการดำรงอยู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มิได้ ดำเนินไปอย่างมีการยอมรับ การจัดงานรำลึกตั้งแต่ในตอนแรกก็ได้รับการสกัดขัดขวาง

ยิ่งเมื่อผลสะเทือนจากสถานการณ์ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตกไปอยู่ในความเข้าใจของ”คนรุ่นใหม่” ยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านตามมาอย่างเป็นระบบ

ไม่ว่าจะโดยการกีดกัน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ในปี 2564 ไม่ว่าจะการไถพลิกสนามฟุตบอลในปี 2565

 

แท้จริงแล้ว มีชัยชนะปรากฏขึ้นจากสถานการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ดำรงอยู่เหมือนกับเป็นเงาสะท้อน

เงาสะท้อนว่า”ชัยชนะ”นั้นมิได้เป็นชัยชนะอย่างแท้จริง

ตรงกันข้าม ภายในชัยชนะนั้นก็ได้มีการแย่งชิงไปยึดครองและสร้างเงื่อนไขจนเกิดสถานการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519

เป็นการเมืองอย่างที่เห็นหลังรัฐประหาร ครั้งแล้วครั้งเล่า