E-DUANG : ความแตกแยก ในพลังประชารัฐ กับอนาคต ของ รวมไทยสร้างชาติ

ผลสะเทือนจากคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตกกระทบกับอย่างน้อย 2 พรรคการเมืองอย่างฉับพลันทันใด

1 ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐ 1 ก่อให้เกิดการขบคิดอย่างหนักในพรรครวมไทยสร้างชาติ

จากภายในพรรคพลังประชารัฐมีข้อเสนอในลักษณะโยนหินถามทางว่ารายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรียังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียวอยู่หรือไม่

ความแหลมคมอย่างยิ่งอยู่ที่การเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง จึงยิ่งทวีความร้อนแรงในการเคลื่อนไหวจากอีกฝ่าย

เป็นอีกฝ่ายที่พร้อมในการสำแดงตัวตนออกมา ด้านหนึ่ง เห็นว่าควรจะมีเพียงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้านหนึ่ง จึง เท่ากับปฏิเสธชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เพิ่งผ่าน

การทดสอบมาแล้วในห้วงการทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีจนได้รับคำชมเชยจากทั่วสารทิศ

ปฏิกิริยาจากพรรคพลังประชารัฐล้วนอยู่ในสายตาอันแหลมคมของพรรครวมไทยสร้างชาติครบถ้วนทุกกระเบียดนิ้ว

 

ต้องยอมรับว่ากำเนิดแห่งพรรครวมไทยสร้างชาติสะท้อนถึงความ พยายามอย่างน้อยก็ตรงที่เมื่อไม่อาจรุกคืบเข้าแย่งยึดพรรคพลังประชารัฐก็แยกตัวออกมาเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ

ทุกอย่างดำเนินไปตามแนวทางที่ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ได้ยืนยันว่า เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เส้นทางของพรรครวมไทยสร้างชาติตั้งแต่ยุค นายเสกสกล อัตถาวงศ์ เดินงาน กระทั่งตกมาอยู่ในมือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิ ภาค ล้วนมีเป้าหมายเช่นนี้

ยิ่งภายในพรรคพลังประชารัฐมีปัญหาความไม่เป็นเอกภาพ มากเพียงใด ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะอยู่ในฐานะอันเป็นทางเลือก

เอกภาพ”พลังประชารัฐ”จึงเป็นภักษา”รวมไทยสร้างชาติ”

 

ภายหลังการอ่านคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ วันที่ 30 กันยายน จึงเท่ากับกำหนดหนทางเลือกสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเด่นชัดขึ้น

ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

ความนิ่งสงบอยู่ในที่ตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติจึงเป็นความนิ่งในลักษณะเกาะติดการต่อสู้ภายในพรรคพลังประชารัฐอย่างเข้มข้น

ทุกอย่างแวดล้อม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยรอบ