E-DUANG : บทบาท ความหมาย “ราษฎร” สถานการณ์ ณ “30 กันยายน”

แสงแห่งสปอตไลต์ฉายจับไปยังการอ่านคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อสถานะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในอีกด้านหนึ่ง การสำแดง”ท่าที”ของกลุ่มการเมืองซึ่งเรียกตนเองว่า”ราษฎร”ก็ได้บังเกิด

พลันที่คำประกาศของ”ราษฎร”ได้รับการเผยแพร่ผ่านเครือข่ายของ”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” บรรยากาศอย่างที่เคยปรากฏตลอดปี 2563 ก็ได้หวนคืนมา

เป็นบรรยากาศของการชุมนุมโดย”เยาวชนปลดแอก”ในเดือนกรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เป็นบรรยากาศของการสานต่อในเดือนสิงหาคมโดย”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

จากนั้น การชุมนุมทางการเมืองก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและดำเนินไปอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าอึกทึกครึกโครม กระทั่งนำไปสู่

คำประกาศจัดตั้ง”คณะราษฎร 2563”ในเดือนตุลาคม

การฟื้นบทบาทของ”ราษฎร”ในสถานการณ์การอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 30 กันยายนจึงมีความหมาย

 

ความหมายในเดือนกันยายน 2565 เป็นความหมายที่ดำรงอยู่ไม่ เพียงแต่ว่า “ราษฎร”อันขานรับโดย”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการ ชุมนุม”จะดำเนินไปอย่างไร

ดำเนินไปอย่างอึกทึกครึกโครมเหมือนที่เคยเห็นเกือบตลอดปี 2563 ได้หรือไม่ และเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

ในเมื่อบรรดาบุคคลที่เรียกว่า”แกนนำ”ไม่เพียงแต่ต้องคดีกันจำนวนมาก หากยังถูกจำขัง หรือหากได้รับการประกันตัวก็ต้องติดกำไลอีเอ็มพร้อมกับเงื่อนไขมากมาย

การเคลื่อนไหวในปี 2564 ต่อเนื่องมายังการเคลื่อนไหวในปี 2565 ก็เด่นชัดอย่างยิ่งว่า เป็นการเคลื่อนไหวโดยแกนนำหน้าใหม่ และเป็นการเคลื่อนไหวย่อยในท่ามกลางการปราบปรามต่อเนื่อง

      คำถามจึงอยู่ที่ว่าคำประกาศของ”ราษฎร”จะยังมีบทบาทอยู่

หรือไม่ หรือว่าเสมอเป็นเพียงการชูคำขวัญในความว่างเปล่า

 

คำตอบของคำถามนี้มาจาก 2 ปัจจัย 1 คือคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินไปอย่างไร 1 เป็นคุณกับ พล. อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่เป็นคุณ

องค์ประกอบจึงขึ้นอยู่กับ “คำวินิจฉัย” เป็นสำคัญ

กระนั้น คำประกาศอันมาจาก”ราษฎร”และสนองโดย”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”ก็ได้กลายเป็นประเด็นร้อน

ไม่ว่าจะเป็น”พลังจริง” ไม่ว่าจะเป็น”พลังแฝง”ก็มีบทบาท