E-DUANG : บทเรียน อันเป็นสัญญาณ ไปต่อ กรณีศึกษา จาก อัศวิน ขวัญเมือง

ความพยายามในการ “ไปต่อ” ของระบอบอันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังท้าทายต่อมโนธรรมและสำนึกในทางการเมืองของสังคมไทยเป็นอย่างสูง

ไม่ว่าจะเมื่อมองไปยังความมั่นใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเมื่อมองไปยังบทบาท พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

คำถามที่ตามมาก็คือ ลักษณะ”อนิจจัง”แห่ง”อำนาจ”

เมื่อทุกอย่างดำรงอยู่ภายใต้กฎแห่งอนิจจังจึงนำไปสู่การเทียบเคียงความแข็งแกร่งแห่งอำนาจโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา เป็นตัวแทน

ในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีความมั่น คง เปี่ยมด้วยความแข็งแกร่งอย่างเด่นชัด แต่ก็เริ่มถูกท้าทายเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562

ยิ่งเมื่อประสบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดปลายปี 2562 แม้จะมีพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือ แต่การเคลื่อนไหวในปี 2563 ก็ท้าทายเป็นอย่างสูง

เริ่มจาก”เยาวชนปลดแอก”ตามมาด้วย”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”กระทั่งเป็น”คณะราษฎร 2563”

ถามว่า ณ วันนี้ขบวนการนี้ถูกจัดการจนราบคาบหรือไม่

 

ความคิดในการ”ไปต่อ”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดขึ้นในเส้นทางเดียวกันกับความปรารถนาในการ”ไปต่อ”ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ในตำแหน่ง”ผู้ว่าฯกทม.”

แม้จะมีกลไกทั้งด้าน”เปิดเผย”และ”ด้านลับ”กรุยทางสร้างเงื่อนไขให้อย่างเต็มเปี่ยม

กระนั้น คำตอบของชาวกรุงเทพมหานครในวันที่ 22 พฤษภา คม ก็มีความแจ่มชัดนั่นคือ เทกว่า 1.3 ล้านคะแนนให้ความไว้วางใจกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ผลก็คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ถูก”เท”พ่ายแพ้แม้กระทั่งลุกน้องเก่าอย่าง นายสกลธี ภัททิยกุล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

      สภาพการณ์ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เท่ากับเป็นสัญ

ญาณเตือนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

คำถามก็คือ มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่ กรณีของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะมี”เอฟเฟ็คท์”ก่อรูปทางความคิดในขอบเขตทั่วประเทศขึ้นในการเลือกตั้ง

นั่นก็คือ ความคิดในการต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นั่นก็คือ สะท้อนความไม่เห็นด้วยกับ”รัฐประหาร” ปฏิเสธความคิดในการ”ไปต่อ”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นั่นก็คือ อนิจจังแห่งอำนาจจะรุนแรงมากเพียงใด