E-DUANG : ผลสะเทือน สถานการณ์ ยูเครน ตกกระทบ สถานการณ์ เมียนมาร์

พลันที่เกิดสถานการณ์เครื่องบินรบของเมียนมาร์ล่วงล้ำเข้ามาในน่านฟ้า อ.พบพระ จ.ตาก การเคลื่อนไหวที่เคยคึกคักของกลุ่มหลอมรวมประเทศไทยก็ต้องเกิดอาการงันชะงัก

เป็นอาการงันชะงักเหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นใน”กลุ่มไทยภักดี” เพราะมองว่าหากต่อต้านก็เท่ากับถาม”#ทหารมีไว้ทำไม”

จำเป็นต้องย้อนไปตั้งหลักกับสถานการณ์”24 กุมภาพันธ์”

นั่นก็คือ เมื่อรัสเซียตัดสินใจเปิด”ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ด้วยการส่งกำลังรุกเข้าไปเพื่อหวังจะยึดครองยูเครน ตามคำสั่งของประธานาธิบดีปูติน

หลังปฏิบัติการเพียง 1 วัน เสียงเชียร์”ปูติน”ก็ดังกระหึ่ม พร้อมกับชี้นิ้วประณามการไม่สยบยอมของประธานาธิบดีเซเลน สกี้แห่งยูเครน

จากนั้น กระบวนการทางความคิดในทาง”สากล”ก็ก่อให้เกิด พันธมิตร 2 พันธมิตรตั้งประจันหน้ากัน

1 คือ พันธมิตรที่โน้มเอนไปในทางเห็นด้วยกับประธานาธิบดี

ปูตินแห่งรัสเซีย 1 คือ พันธมิตรที่โน้มเอนไปในทางเห็นด้วยกับประธานาธิบดีเซเลนสกี้แห่งยูเครน

จากสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ก็ส่งผลสะเทือนมายังสถานการณ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม

 

ความซับซ้อนของสถานการณ์ที่เครื่องบินเมียนมาร์ล่วงล้ำเข้ามาน่านฟ้าของไทยอยู่บนพื้นฐานที่หลังพิงอันแข็งแกร่งของเมียนมาร์ คือจีนและรัสเซีย

ยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลือทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจต่อรัฐบาลมินอ่องหล่ายมาจาก 2 ประเทศนี้

ขณะที่เมื่อเกิดสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมาร์ ประชาชนชาวเมียนมาร์ก็ลุกขึ้นสู้ตั้งแต่โดยการเดินขบวนและยกระดับไปสู่การจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ

สถานการณ์ในเมียนมาร์กับสถานการณ์ในยูเครนจึงก่อให้เกิดการปะทะระหว่างพันธมิตรของรัสเซียกับพันธมิตรของยูยูเครนโดยปริยาย

อาการงันชะงักของกลุ่มหลอมรวมประเทศไทยมาจากจุดนี้

 

จากสถานการณ์ยูเครนมายังสถานการณ์ในเมียนมาร์จึงสะท้อนให้เห็นปัญหาและความขัดแย้งในระดับสากลจากพันธมิตรในแนว ร่วมอย่างน้อยก็ 2 เส้นทาง

ทำให้นิยามของ”บูรณภาพ”เหนือดินแดนแตกต่างออกไป

ไม่ว่าจะมองผ่านบทสรุปของปูติน ไม่ว่าจะมองผ่านบทสรุปของมินอ่องหล่าย

กลายเป็นคำถามถึง”เอกราช” เป็นคำถามถึง”ประชาธิปไตย”