E-DUANG : เงาสะท้อน ประยุทธ์ จันทร์โอชา เบื้องหน้า เครื่อง “คอมพิวเตอร์”

“มีม”ที่ทรงพลังที่สุดในทางการเมือง ไม่ได้มาจากการไลฟ์ของ นายชัช ชาติ สิทธิพันธุ์ ตั้งแต่เช้ามืดยังค่ำคืนดื่นดึกเท่านั้น

หากยังเป็น”มีม” ณ เบื้องหน้าคอมพิวเตอร์ที่เชียงใหม่

เป็นภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดินทางไปตรวจราช การ ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง และนั่งลงเพื่อแสดงปฏิบัติการเบื้องหน้าคอมพิวเตอร์

ฝ่ายเสนาธิการอาจวางรายละเอียดนี้อย่างรอบคอบและรัดกุมเพื่อสะท้อนความเป็นเนื้อเดียวกับโลกสมัยใหม่

เนื่องจาก “คอมพิวเตอร์” คือสัญลักษณ์แห่ง”โลกอนาคต”

ทั้งยังเป็นการนั่ง ณ เบื้องหน้าคอมพิวเตอร์โดยมีเด็กๆนักเรียนนั่งอยู่เรียงเคียงข้าง จึงเท่ากับเป็นการประสานความเป็นหนึ่งเดียวได้อย่าง แนบแน่น สดใส

ทุกอย่างปรากฏขึ้นตามที่กำหนด แต่ที่อยู่นอกเหนือการวางแผนก็ คือ เมื่อปรากฏภาพของ”เด็ก”วางอยู่เหนือมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรง”เม้าส์”

คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้มองลึกลงไปในรายละเอียด เพียงแต่มีคน

สายตาคมบางคนมองเห็นและอ่านทะลุ เท่านั้นไม่พอยังเอาปากกามาวงตรงจุดสำคัญนี้อีกด้วย

เท่านั้นแหละ ภาพจากเชียงใหม่ก็กลายเป็น”มีม”และแพร่หลายจนอยู่ในจุดอันเป็น”ไวรัล”ในที่สุด

 

เพียงภาพนี้ภาพเดียวเมื่อเผยแพร่ออกไปได้ทำให้”ปฏิมา”ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จัดวางเอาไว้ตั้งแต่ยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือน พฤษภาคม 2557 ต้องพังครืนลงมา

ไม่ว่าจะเป็นสถานะอันเป็นที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพผ่านคำใหญ่คำโตว่าด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล

ยิ่งหวนนึกถึงการสดุดี”ยูทูบ”เมื่อไปเยือนมหานคร”นิวยอร์ค”

ยิ่งชวนให้แคลงคลางกังขาว่า การเผยแพร่ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งติดตามการเคลื่อนไหวผ่าน”ไอแพ้ด”นั้นมีความเป็นจริง รองรับหนาแน่นเพียงใด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่องเว็บด้วยมือและสายตาตนเอง หรือเสมอเป็นเพียงมีการ”พิมพ์”ออกมาให้อ่านในภายหลังตามแบบผู้บริหารรุ่นอาวุโสโดยทั่วไป

คำถามนี้ท้าทายต่อภาพลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

บังเอิญที่ภาพลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางสถานะอยู่บนฐานที่ประโคมว่าเป็นที่ 1 ของรุ่น จึงนำไปสู่คำถามอันแหลมคมยิ่งว่า ขนาดที่ 1 ยังออกมาเร่อร่าขนาดนี้

แล้วภาพโดยทั่วไปของ”ทหาร”จะดำรงอยู่อย่างไรกันแน่

จึงนำไปสู่การหยิบยกเอาบาง”ถ้อยคำ”ที่มีการตระเตรียมและสอดสวมผ่านปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แท้จริง มาจากยุค”ดิจิทัล”หรือยุค”อะนาล็อก”กันแน่