E-DUANG : เงาแห่ง ทิศทาง ดนตรีในสวน มวลชน ชุมนุม ทางความรู้สึก

ปัจจัยอะไรทำให้อุบัติแห่ง”ดนตรีในสวน”ได้รับการขานรับจากชุมชนเมืองอย่างคึกคัก

ไม่ว่าจะเป็น “สวนรถไฟ” ไม่ว่าจะเป็น “สวนเบญจกิติ”

แม้กระทั่งเมื่อน้องๆออกโรงแสดงดนตรีในท่ามกลางความจอแจของย่านสยามสแควร์ ก็สามารถดูดดึงผู้มีดนตรีในหัวใจให้ เข้าร่วมอย่างคึกคัก

ยิ่งเมื่อมิวเซียม สยาม เปิดบรรยากาศดนตรีเบาสบาย สร้าง ความใกล้ชิด เป็นกันเอง ระหว่างผู้บรรเลงและผู้ฟังในท่วงทำนอง แบบวง”นั่งเล่น”ยิ่งซาบซึ้งตรึงตรา

คำตอบหนึ่งซึ่งตรงเป้าอย่างที่สุด เป็นเพราะคนติดอยู่ในวังวนแห่งความตรึงเครียดในสถานการณ์โควิดมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

คำตอบเหนึ่งมาจากปรากฏการณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันเท่ากับเป็นการเข้าเติมเต็มและพังทลายบรรยากาศแห่งความอึดอัดทั้งในทางสังคมและในทางการเมือง

ปรากฏการณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงมาพร้อมกับปรากฎ การณ์”ดนตรีในสวน” อันเท่ากับเป็นการปลดปล่อยและเก็บรับความรู้สึกใหม่เข้ามา

 

การสอดสวมเข้ามาตามแผนที่ริเริ่มโดยกรมกิจการพลเรือนทหาร บกผ่านบทบาทของกรมดุริยางค์ทหารบก เหมือนกับเป็นการช่วงชิงในทางการเมืองอย่างเหมาะสม

ยิ่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดใจกว้างขานรับอย่างอบอุ่นถึงกับสมานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม

ภาพที่เห็นจากสวนป่าเบญจกิตติเมื่อตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน จึงกลบช่องว่างที่เคยเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน ไปได้อย่างฉับพลันทันใด

ความตื่นตาตื่นใจมิได้อยู่ที่การบรรเลงและการร้องเพลงที่ไพเราะกินใจเท่านั้น หากอยู่ที่การเข้าคิวเพื่อร่วมเซลฟีกับ นายชัช ชาติ สิทธิพันธุ์

เท่ากับบทบาทของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีส่วนอย่างสำคัญ

อันเกิดขึ้นเพื่อลดภาวะตึงเครียดอันสะสมมาก่อนหน้านี้

 

แท้จริงแล้ว การเข้าร่วมในกิจกรรม”ดนตรีในสวน” ดำเนินไปอย่าง เป็นปฏิมาของการชุมนุม เพียงแต่มิได้เป็นการเมืองโดยตรงหากแต่เป็นการเมืองในทางความรู้สึก

โดยพื้นฐานคือการขานรับแนวทาง”ดนตรีในสวน”ของกทม.

เป้าหมายที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น คือ การอาศัยเสียงดนตรีมาเป็น ทางออกภายใต้ความอึดอัดและคับข้องใจทางการเมือง