E-DUANG : ผลสะเทือน จาก ดนตรีในสวน สะท้อน ปรากฎการณ์ ชัชชาติ

เพียงภาพแห่ง”ดนตรีในสวน”ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นที่สวนป่าเบญจกิติ ไม่ว่าจะเป็นกลางสลัมคลองเตย ไม่ว่าจะเป็นที่มิวเซียม สยาม เหตุใดจึงสะท้อน”ปฎิกิริยา”อันแตกต่างกัน

ทั้งๆที่เป็นการแสดง”ดนตรี”เหมือนกัน ทั้งๆที่มีผู้มีดนตรี”ในหัวใจ”เข้าร่วมเสพและร่วมเสวนาเหมือนๆกัน

จะแตกต่างก็เพียง”ราก”และ”ฐาน”ที่มาแห่ง”วง”ดนตรี

การเปรียบเทียบระหว่างดนตรีในสวนที่สวนป่าเบญจกิติกับที่ปรากฏที่มิวเซียม สยาม โยงยาวไปยังจุดเริ่มแห่งดนตรีในสวนที่สวนรถไฟและสวนลุมพินีโดยอัตโนมัติ

เพียงเพราะว่าดนตรีในสวนที่สวนป่าเบญจกิติเป็นงานในความรับผิดชอบของกรมดุริยงค์ทหารบกโดยการผลักดันของกรมกิจการพลเรือน

ขณะที่ไม่ว่าดนตรีในสวนที่สวนรถไฟ สวนลุมพินี ชุมชนย่าน คลองเตย ตลอดจนมิวเซียม สยาม ล้วนเป็นการจัดโดยเครือข่ายของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กระนั้นหรือ

เพียงเพราะเป็นมือของทหารผ่านโครงสร้างของกองทัพบกกระนั้นหรือจึงถูกต่อต้านและไม่เข้าร่วมอย่างคึกคัก อบอุ่น

ขณะที่หากเป็นเครือข่าย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กลับคึกคัก

 

คำถามเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่าน”ดนตรีในสวน” หากแม้กระทั่งกระบวนการ”ไลฟ์” หากแม้กระทั่งที่แสดงออกผ่าน”โซเชียล มีเดีย”

ถามว่าจำนวนคนติดตามไลฟ์ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แตกต่างกันหรือไม่

ถามลึกลงไปอีก ภายในกระบวนการเข้าไปมี”ส่วนร่วม”ในกิจกรรมและการเคลื่อนไหวในโลกแห่ง”โซเชียล มีเดีย”ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นไปอย่างไร

อาจกล่าวได้ว่าร้อยละ 90 ของการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกิจกรรมในโลก”โซเชียล มีเดีย”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นไปในทาง”ลบ”มากกว่าทาง”บวก”

นี่คือเงาสะท้อน ความนิยม และความไม่นิยมต่อ พล.อ.ประ 

ยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อย่างเห็นเด่นชัดเป็น”รูปธรรม”

 

จึงอาจกล่าวได้ว่า นับแต่ปรากฏการณ์กว่า 1.3 ล้านคะแนนเสียงที่ชาวกรุงเทพมหานครเทให้กับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพื่อเป็น”ผู้ว่าฯกทม.”เป็นต้นมา กัมมันตะแห่งปรากฏการณ์นี้ใหญ่หลวง

ไม่ว่าจะแตะไปใน”ดนตรีในสวน”ไม่ว่าจะแตะไปใน”ไลฟ์”

ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ หากแต่ยังทำให้เห็นเด่นชัดถึงความสนใจและไม่สนใจต่อแต่ละเป้าได้

เป็นเครื่องมือหนึ่งในการวัดคะแนนและความนิยมการเมือง